บอร์ด สปสช.เห็นชอบจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5 ปี 2560-2564 เพื่อเป็นกรอบขับเคลื่อนการพัฒนา ยึดโยงตามนโยบายรัฐบาล กรอบยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 มุ่งเน้นประชาชนมีสิทธิเสมอกัน ดูแลเพิ่มในกลุ่มที่ยังมีปัญหา พร้อมสนับสนุนพัฒนาระบบบริการมีคุณภาพมาตรฐาน และจัดหาที่จำเป็น เตรียมรับฟังความคิดเห็นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ให้บอร์ดพิจารณา มิ.ย.นี้
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี ประธานกลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์และการประเมินผล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มี.ค.59 มีมติเห็นชอบกรอบการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระยะ 5 ปี พ.ศ.2560-2564 โดยเน้นการมีส่วนร่วมด้วยการระดมสมองและรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ครอบคลุม ทั้งภายนอกและภายในองค์กร รวมทั้งคณะกรรมการฯ ตามกฎหมายทั้ง 2 คณะ และจัดทำยุทธศาสตร์บนพื้นฐานของข้อมูลและความเป็นไปได้
ทั้งนี้ในการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระยะ 13 ปีที่ผ่านมา มีแผนหลักเป็นกรอบในการดำเนินงานทั้งสิ้น 3 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1: เน้นการสร้างเส้นทางเดิน (roadmap) สู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (พ.ศ.2548-2550)
ระยะที่ 2: เน้นการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2551-2554
ระยะที่ 3: เป็นแผนยุทธศาสตร์ต่อเนื่องการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 (ฉบับปัจจุบัน)
โดยแต่ละระยะมีจุดเน้นที่แตกต่างกันตามสถานการณ์ปัญหาและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น และเป้าประสงค์ที่ต้องการบรรลุ
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ดังนั้นเพื่อให้มีแผนยุทธศาสตร์ฯ เป็นกรอบในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับกรอบคิดพื้นฐานและเป้าหมายของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช.จึงได้เตรียมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ระยะต่อไป (พ.ศ.2560-2564) โดยมีกรอบคิดและหลักการที่สำคัญยึดโยง ร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 การปฏิรูประบบสุขภาพ สภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุข พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนโยบายรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการวางรากฐานให้ระบบหลักประกันสุขภาพครอบคลุมประชากรในทุกภาคส่วนอย่างมีคุณภาพ โดยไม่มีความเหลื่อมล้ำของคุณภาพบริการในแต่ละระบบ การบูรณาการระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ 3 กองทุนเป็นเอกภาพ รวมถึงการปฏิรูประบบประกันสุขภาพและระบบการเงินการคลัง
ทั้งนี้ ร่างกรอบคิด 5 ยุทธศาสตร์หลักเบื้องต้น จะเน้นหนักในประเด็นต่อไปนี้
1.ประชาชน มีสิทธิเสมอกันในการได้รับความคุ้มครอง เน้นดูแลเพิ่มในกลุ่มที่ยังมีปัญหาการใช้สิทธิ์ เช่น คนที่อาศัยในเขตเมือง ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสในสังคม
2.ระบบบริการ จะเน้นเรื่องคุณภาพบริการที่ประชาชนจะได้รับ โดยเฉพาะการจัดหาบริการที่จำเป็น สนับสนุนการพัฒนาระบบบริการและการกำกับคุณภาพมาตรฐานบริการที่ประชาชนได้รับ
3.การมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆ เพิ่มความเข้มแข็งของภาคีเดิม สร้างความร่วมมือเครือข่ายภาคียุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพของทุกคนในสังคม
4.การเงินการคลัง จะเน้นการสร้างความยั่งยืนของระบบการเงินการคลัง พัฒนาปรับปรุงวิธีการคำนวณงบประมาณ วิธีการจ่ายชดเชยค่าบริการ สร้างการยอมรับร่วมกัน
5.สำนักงาน จะเน้นการปรับระบบใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เน้นธรรมาภิบาล ตรจสอบได้ เพิ่มศักยภาพด้านการติดตามงาน การประเมินผล และหลักการทำงานบนพื้นฐานของความรู้และข้อมูลเชิงประจักษ์
นพ.จเด็จ กล่าวว่า การดำเนินงานต่อจากนี้ จะมีการรับฟังความเห็นบุคคลภายนอก เช่น สธ. หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม เพื่อการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ และจะมีการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เพื่อพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะต่อแผนยุทธศาสตร์ ก่อนปรับปรุงและเสนอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ฯ และประกาศใช้ต่อไปประมาณเดือนมิถุนายน 59 นี้
ข่าวเด่น