วันนี้ (27มี.ค.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะเสร็จเรียบร้อย และส่งมอบให้รัฐบาลในวันที่ 29 มี.ค. นี้ ว่าคงต้องติดตามดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ว่า จะมีการปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติมตัดทอนอะไรมากน้อยแค่ไหน จากร่างเดิม โดยเฉพาะบทเฉพาะกาล เนื่องจากยังมีแนวคิดจาก สปท. บางคนที่ต้องการให้เพิ่มอำนาจหน้าที่ ให้มีสิทธิลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ บางส่วนก็ยังมีความประสงค์ให้ อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ ตนหวังว่าจะไม่มีใบสั่งส่งมาในวันสุดท้ายก่อนจะส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ให้รัฐบาล ส่วนในบทบาทถาวรนั้น คงต้องติดตามดูเช่นกันว่าได้ปรับปรุงแก้ไข ตามข้อเรียกร้องของประชาชนมากน้อยแค่ไหน ในเนื้อหาสาระสำคัญ หรือแก้ไขเพียงถ้อยคำเล็กๆน้อยๆ
ประเด็นที่ต้องติดตามดูอย่างรอบคอบว่าปรับปรุงแก้ไขมากน้อยแค่ไหน มีอยู่ 5 ประเด็นสำคัญคือ
1.เรื่องสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ครอบคลุมทุกบริบทหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร
2.ระบบตรวจสอบถ่วงดุลของฝ่ายนิติบัญญัติ เข้มขึ้นเพียงพอ ที่จะยับยั้งการกระทำที่มิชอบของฝ่ายบริหารหรือไม่
3.การออกแบกลไกป้องกันการใช้ อำนาจ หน้าที่ โดยมิชอบ และการแสวงหาประโยชน์ เพื่อตนเองและพวกพ้องของฝ่ายบริหาร
4.การสร้างดุลยภาพของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ องค์กรอิสระ และศาลเป็นไปอย่างเหมาะสมหรือไม่
5.วางรากฐานการปฏิรูปเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงจังมากน้อยแค่ไหน อย่างไร
ส่วนจุดเด่นของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในเรื่องการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น การกลั่นกรองการเข้าสู่อำนาจอย่างเข้มข้น การใช้อำนาจเพื่อทุจริตลำบากมากขึ้น รวมทั้งการตรวจสอบอำนาจจากหลายรูปแบบ ผ่านองค์กรอิสระ และกระบวนการยุติธรรมต่างๆ มีการเพิ่มเติมอะไรเข้มขั้นขึ้นหรือไม่
“อยากให้เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนติดตามเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งในบทถาวร และบทเฉพาะกาลว่าปรับปรุงแก้ไข เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม หรือเพื่อประโยชน์ของบุคคล คณะบุคคล ใดบุคคลหนึ่ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการออกเสียงประชามติได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป”รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
นายองอาจ กล่าวด้วยว่า หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ เผยแพร่ถึงมือประชาชนเรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้าสู่ช่วงเวลา ที่จะได้พิจารณากันว่า จะออกเสียงประชามติเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ซึ่งแน่นอนที่สุด การออกเสียงประชามติ ย่อมมีผู้เห็นชอบ และไม่เห็นชอบแตกต่างกันออกไป จึงอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ต่อร่างรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผล เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ทรงมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข และพึงตระหนักร่วมกันว่า ผลการออกเสียงประชามติ ไม่ว่าจะออกมาเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ผลการแข่งขัน ที่ต้องมีแพ้ชนะ
“เราไม่ควรมีผู้แพ้ หรือ ผู้ชนะ จากการออกเสียงประชามติ แต่เราคนไทย ควรเป็นผู้ชนะร่วมกัน ที่ช่วยกันทำให้ ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปด้วยความยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่าย ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่เราร่วมกันได้ในที่สุด”นายองอาจ กล่าว
ข่าวเด่น