คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม เห็นชอบโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 3 โครงการ เข้าร่วมดำเนินการตามโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) มูลค่ารวม 9,000 ล้านบาท เพื่อสร้างความโปร่งใสในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณ 2559 เพื่อเข้าร่วมดำเนินการตามโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency Initiative: CoST)
โดยคัดเลือกมาจากโครงการก่อสร้างโครงการพื้นฐานที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อสาธารณชนในวงกว้างที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 3 โครงการ
สำหรับโครงการที่ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการตามโครงการ CoST ทั้ง 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการบรรเทาอุทกภัย อ.หาดใหญ่ วงเงิน 6,500 ล้านบาท ของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2.โครงการก่อสร้างทางวิ่งทางขับท่าอากาศยานเบตง วงเงิน 1,500 ล้านบาท ของกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม และ 3.โครงการก่อสร้างอาคารสถาบันโรคผิวหนังพร้อมรื้อถอน วงเงิน 1,067 ล้านบาท ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
นายมนัส กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลาง โดยคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม ศึกษาและกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและแนวทางในการใช้ระบบ CoST ในโครงการก่อสร้างภาครัฐของส่วนราชการ เพื่อสร้างความโปร่งใสในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยวางระบบการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างในทุกระยะการดำเนินงาน เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงมีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่เปิดเผย ซึ่งกระบวนการนี้จะมีคณะทำงานตรวจสอบข้อมูล (Assurance Team) ที่ประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่จำเป็นต่อโครงการก่อสร้างภาครัฐนั้น ๆ เช่น วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี ซึ่งจะต้องมีความเป็นกลางและไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการนั้น ๆ ซึ่งขณะนี้ กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างประสานงานกับ
ฝ่ายเลขานุการของ CoST International Secretariat ประเทศอังกฤษ เพื่อให้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการ CoST กับหน่วยงานภาครัฐเจ้าของโครงการที่ได้รับคัดเลือกและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
“การนำโครงการ CoST มาใช้ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างของส่วนราชการนั้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ มีความคุ้มค่า และยกระดับความโปร่งใสในโครงการก่อสร้างภาครัฐของประเทศ รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนที่จะเข้าร่วมเสนองานโครงการก่อสร้างของรัฐ เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง” นายมนัส กล่าว
ข่าวเด่น