วันนี้(อังคาร 29 มีนาคม 2559) เวลา 10.00 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ครั้งที่ 4 ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม -1 เมษายน 2559 ร่วมกับผู้นำผู้แทนจาก 52 ประเทศ และ 4 องค์การระหว่างประเทศ เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของไทยร่วมกับประชาคมโลก เพื่อวางรากฐานโครงสร้างด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ที่แข็งแกร่ง ภายใต้ความร่วมมือผ่านองค์การระหว่างประเทศและกรอบความร่วมมือที่สำคัญ
โดยการประชุมในครั้งนี้ มีผู้นำจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมถึง 52 ประเทศ และ 4 องค์การสำคัญระหว่างประเทศ อาทิ นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นาย ฟรองซัวส์ อองลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นาย นเรนท รา โมดี นายกรัฐมนตรี อินเดียและ นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และ 4 องค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ สหประชาชาติ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ องค์การตำรวจสากล และสหภาพยุโรป
การประชุมครั้งนี้จะมีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ คือ แถลงการณ์ของการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงนิวเคลียร์ ประจำปี ค.ศ. 2016 (2016 Nuclear Security Summit Communique) และแผนปฏิบัติการแนบท้าย (Action Plans) อีก 5 ฉบับ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นทางการเมืองร่วมกันของผู้นำ พร้อมทั้งแนวทางความร่วมมือในอนาคต เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ และเพื่อลดภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่ใช้นิวเคลียร์ ซึ่งรวมทั้งข้อเสนอแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกกับองค์กรและกรอบความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง คือ สหประชาชาติ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ องค์การตำรวจสากล และสหภาพยุโรป โดยเป็นการรับรอง (adopt) และเป็นไปตามความสมัครใจ ที่สอดคล้องกับกฎหมาย/ระเบียบภายในประเทศ และพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะปฏิบัติภารกิจหลัก คือ การกล่าวถ้อยแถลงและหารือร่วมใน 4 วาระสำคัญ คือ การหารือช่วงอาหารค่ำ (Working Dinner) ภายใต้หัวข้อ “มุมมองการส่งเสริมความปลอดภัย (Nuclear Security Perceptions)” วาระที่สอง คือ การเปิดประชุมหารือเต็มคณะ (Plenary Session) ในหัวข้อ “แผนปฏิบัติการระดับประเทศ เพื่อการส่งเสริมความมั่นคงทางนิวเคลียร์”(National Actions to Enhance Nuclear Security) วาระที่สาม คือ การหารือช่วงอาหารกลางวัน (Working Lunch) หัวข้อ คือ การดำเนินงานของหน่วยงานและองค์การระหว่างประเทศ (International and Institutional Actions to Strengthen Nuclear Security and Scenario based Policy Discussion) พร้อมชมภาพยนตร์ที่จำลองสถานการณ์ภัยที่เกิดจากสารกัมมันตรังสีที่อยู่ในมือผู้ก่อการร้าย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้นำได้หารือร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์จำลองที่เกิดขึ้นด้วย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เข้ารับรางวัล Nuclear Industry Summit Awards ซึ่งประเทศไทย ได้รับการยอมรับ (recognition) ในฐานะประเทศที่มีบทบาทอย่างเข้มขันระดับโลก ในการกำจัดและไม่ให้มี highly enriched uranium สารกัมมันตรังสีอยู่ในประเทศ โดยมี 17 ประเทศทั่วโลกรวมทั้ง 3 ชาติอาเซียนที่ได้รับรางวัลดังกล่าวนี้ คือ ฟิลิปปินส์ เวียดนามและไทย
นอกจากนี้ สภาหอการค้าสหรัฐอเมริกาและสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกาและอาเซียน (US-ASEAN Business Council and Chamber of Commerce) จะเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี โดยในโอกาสนี้ จะมีผู้ระดับสูงจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ผู้แทนจากภาครัฐของสหรัฐอเมริกาและคณะทูตานุทูต ร่วมรับฟังวิสัยทัศน์การบริหารประเทศและความก้าวหน้าในการปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทย้วย โดยกลุ่มธุรกิจสหรัฐที่สำคัญประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน ยาและเคมีภัณฑ์ ก่อสร้างและเทคโนโลยีสารสนเทศ
นายกรัฐมนตรียังจะได้พบปะพูดคุยกับกลุ่มคนไทยที่ทำงานในสถาบันการเงินระหว่างประเทศ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก (World Bank) เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้ “ประชารัฐ” และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ข่าวเด่น