ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ชาวโพนพิสัยเฮ!กรมชลฯเดินเครื่องสูบน้ำจากแม่น้ำโขงช่วยภัยแล้ง


 


กรมชลประทาน เดินเครื่องสูบน้ำจากแม่น้ำโขง เก็บกักน้ำไว้ในลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง บรรเทาปัญหาภัยแล้ง และสนับสนุนน้ำดิบผลิตประปา ในเขตอ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ตั้งเป้าสูบน้ำถึงเดือนพฤษภาคมนี้ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเก็บกักไว้ในลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ไม่ต่ำกว่า 47 ล้านลูกบาศก์เมตร
 
 
 
 
 
 
 

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสภาพปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ในเขตอ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำทั้งการอุปโภคบริโภค การผลิตประปา และการเกษตรกรรม นั้น กรมชลประทานได้เตรียมการแก้ไขปัญหา
 
 
โดยการวางแนวทางการใช้น้ำจากน้ำที่จะระบายลงแม่น้ำโขงและรวมถึงน้ำในแม่น้ำโขงในช่วงฤดูแล้ง ด้วยการก่อสร้างสถานีสูบน้ำชั่วคราวสูบทอย 1 แห่ง เพื่อทำหน้าที่สูบน้ำจากบริเวณปากลำห้วยหลวง ซึ่งเป็นจุดที่น้ำจากแม่น้ำโขงไหลเข้ามาสู่ลำห้วย ก่อนนำน้ำมาเก็บกักไว้ด้านหน้าประตูระบายน้ำห้วยหลวง เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และการเกษตรยังชีพ
 

กรมชลประทาน ได้เริ่มสูบน้ำมาตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 59 เป็นต้นมา และจะไปสิ้นสุดการสูบน้ำในวันที่ 10 พ.ค. 59 ปัจจุบันสามารถสูบน้ำมาเก็บกักไว้ในบริเวณหน้าประตูระบายน้ำห้วยหลวง ได้มากกว่า 9.88 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว โดยมีเป้าหมายที่จะเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ให้ได้มากกว่า 47 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะสามารถส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่ชลประทานในช่วงฤดูแล้งได้ประมาณ 12,000 ไร่ รวม 8 หมู่บ้าน 3 ตำบลของอ.โพนพิสัย และยังจะเป็นแหล่งน้ำสำหรับสนับสนุนการผลิตประปา เพื่อใช้อุปโภคบริโภคในพื้นที่ 7 หมู่บ้าน 2 ตำบล ของอ.โพนพิสัยอีกด้วย

         
ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความมั่งคงด้านการใช้น้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในลุ่มน้ำห้วยหลวง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมชลประทาน ได้วางแผนดำเนินการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำทั้งฤดูน้ำหลากและฤดูแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วย การก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง เพื่อสูบน้ำจากลำห้วยหลวงระบายลงสู่แม่น้ำโขง ในช่วงฤดูน้ำหลาก และช่วงที่ขาดแคลนน้ำในฤดูฝน จะสูบน้ำเพื่อนำน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามายังลำห้วยหลวง สำหรับเสริมน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน
 
 
การก่อสร้างพนังกั้นน้ำช่วงที่ตลิ่งต่ำตามแนวลำห้วยหลวง ความยาวรวม 47.02 กิโลเมตร เพื่อป้องกันผลกระทบจากระดับน้ำที่สูงขึ้นในพื้นที่ลุ่มต่ำตามแนวเขตน้ำท่วม และช่วยควบคุมปริมาณน้ำและรับน้ำในช่วงน้ำหลาก ก่อนระบายลงสู่แม่น้ำโขงต่อไป การก่อสร้างอาคารบังคับน้ำตามลำน้ำห้วยหลวงและลำน้ำสาขา จำนวน 15 แห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำ และการก่อสร้างระบบส่งน้ำชลประทานขนาดกลาง ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานกว่า 315,000 ไร่ สำหรับใช้กระจายน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรในเขตจังหวัดหนองคายและอุดรธานีด้วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติโครงการภายในปี 2559 นี้

           
สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว อยู่ระหว่างการศึกษาการนำน้ำจากแม่น้ำโขง เพื่อสนับสนุนการเกษตรกรรมและอาจนำน้ำไปช่วยในลุ่มน้ำใกล้เคียง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายมปี 2559 นี้ด้วย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 มี.ค. 2559 เวลา : 12:30:11

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:33 am