ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก เผยผลสำรวจ "แนวโน้มของนักลงทุนในเอเชียแปซิฟิกปี 2559" ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์แนวโน้มและความสนใจของนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิกในปีนี้
ความสนใจซื้อโดยรวมของนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นไปในทิศทางบวก โดย 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า มีแผนที่จะซื้ออสังหาริมทรัพย์ในปริมาณเดียวกันหรือมากกว่าปี 2558 แม้นักลงทุนที่ตั้งใจจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ในปริมาณที่มากขึ้นจะมีจำนวนลดลง คือคิดเป็น 42% ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้น เทียบกับ 54% ในปี 2558 และ 64% ในปี 2557 แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคาดหวังที่จะซื้อมากกว่าขาย
นางสาวเอด้า ชอย ผู้อำนวยการอาวุโส แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ประจำเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า "เอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นตลาดสำคัญที่มีการเติบโตและเป็นที่สนใจสำหรับนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว และมีระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลก จากการที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคนี้มีความเคลื่อนไหวโดยตลอดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณการลงทุนที่สูงจนสร้างสถิติใหม่และมีธุรกรรมการซื้อขายมูลค่าสูง เราจึงเริ่มเห็นบรรยากาศการลงทุนที่เบาบางลงในปี 2559 ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ราคาทรัพย์สินที่สูง และปริมาณทรัพย์สินที่นำออกขายมีจำนวนจำกัด"
ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (58%) เห็นว่าเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกเป็นข้อกังวลที่ใหญ่ที่สุดสำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิกในปีนี้ เปรียบเทียบกับ 29% ในปีที่แล้ว และยังมีความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับราคาทรัพย์สิน โดย 38% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าราคาทรัพย์สินเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุด เพิ่มขึ้นจาก 31% ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่ามูลค่าที่เพิ่มขึ้นของเงินลงทุนเป็นแรงจูงใจที่สำคัญในการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ และปริมาณของทรัพย์สินที่มีการนำออกขายเป็นอุปสรรคที่ใหญ่เป็นอันดับสอง
ทำเลและประเภทสินทรัพย์ที่นักลงทุนสนใจ
ในเอเชียแปซิฟิก การสำรวจเผยว่านักลงทุนข้ามชาติยังคงมุ่งให้ความสนใจไปที่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้รวมกันคิดเป็นราว 60% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ออสเตรเลียยังคงเป็นทำเลยอดนิยมสำหรับนักลงทุนเอเชีย โดยเฉพาะนักลงทุนจีนและสิงคโปร์ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติที่สนใจตลาดญี่ปุ่นยังคงมีอยู่มาก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอเมริกาเหนือ แม้ความสนใจของนักลงทุนนานาชาติที่มีต่อจีนจะลดลง อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความผันผวนของตลาดทุน และค่าเงินที่อ่อนตัวลง แต่บรรยากาศการลงทุนของนักลงทุนในประเทศยังค่อนข้างดีอยู่ สำหรับตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย เช่น อินเดีย และ เวียดนาม กลับมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนอีกครั้งในปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น
ตลาดอาคารสำนักงานยังครองตำแหน่งตลาดที่ได้รับความสนใจมากที่สุดสำหรับการลงทุน (32% ของผู้ตอบแบบสอบถาม) เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน การเติบโตทางธุรกิจที่มีอย่างต่อเนื่องในเอเชียแปซิฟิกโดยเฉพาะภาคบริการ เป็นแรงสนับสนุนให้มีความต้องการลงทุนอย่างมากในสินทรัพย์ชั้นดีในตลาดอาคารสำนักงาน ขณะที่ตลาดโลจิสติกส์เป็นตลาดที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับสอง ด้านตลาดโรงแรมและรีสอร์ทได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นมากที่สุด จากเพียง 1% ในปี 2557 เป็น 14% ในปี 2559 ความต้องการในตลาดดังกล่าวพบมากในออสเตรเลียและญี่ปุ่น เนื่องจากค่าเงินที่อ่อนตัวลงทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน
ความสนใจลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
นักลงทุนในเอเชียแปซิฟิกได้แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นในปีนี้ โดย 42% ของผู้ตอบแบบสอบถามตั้งใจที่จะลงทุนนอกภูมิภาค เพิ่มขึ้นจาก 31% ในปี 2558 นักลงทุนเกาหลีใต้มองการลงทุนในต่างประเทศในแง่บวกมากที่สุด ตามด้วยนักลงทุนสิงคโปร์ ด้านนักลงทุนสถาบันจากเอเชียยังคงเป็นผู้นำด้านการลงทุนในต่างประเทศ เมื่อเทียบกับบรรดานักลงทุนประเภทต่างๆ
ซีบีอาร์อีรวบรวมผลสำรวจ "แนวโน้มของนักลงทุนในเอเชียแปซิฟิก 2559" จากผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 350 คน ซึ่งการสำรวจนี้จัดทำผ่านระบบออนไลน์ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2559 ผลสำรวจดังกล่าวครอบคลุมหลายกลุ่มของนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น ผู้จัดการกองทุนหรือผู้จัดการสินทรัพย์ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ นักลงทุนสถาบัน บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ราว 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามมาจากบริษัทในเอเชียแปซิฟิก และ 20% มาจากบริษัทในภูมิภาคอื่น
ข่าวเด่น