สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะขอรายงานสรุปผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) ว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 JCR ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้รัฐบาลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Long-Term Issuer Rating) และสกุลเงินบาท (Local Currency Long-Term Issuer Rating) ที่ระดับ A- และ A ตามลำดับ และคงเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไว้ที่ระดับ A+ รวมทั้งคงสถานะแนวโน้มความน่าเชื่อถือของประเทศไทยไว้ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)
สรุปสาระสำคัญของเหตุผลประกอบการจัดอันดับความน่าเชื่อถือมีดังนี้
ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ A- สะท้อนจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการส่งออก ภาคธนาคารที่มีเสถียรภาพ รวมถึงฐานะทางการคลังและดุลภาคต่างประเทศที่แข็งแกร่งโดยเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต ได้แก่ การก้าวเข้าสู่กับดักรายได้ระดับปานกลาง (Middle Income Trap) เนื่องจากกำลังแรงงานที่ลดลงและต้นทุนค่าแรงที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต สำหรับแนวโน้มความน่าเชื่อถือที่อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ เป็นผลมาจากสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองปรับตัวมีเสถียรภาพมากขึ้น
ประกอบกับประเทศไทยมีการส่งเสริมการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม (Industrial Clusters) และรวมอยู่ในโครงข่ายการผลิตและการกระจายสินค้าของอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของเอเชียตะวันออก อีกทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยคาดว่า ในปี 2559 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในระดับจำกัด เนื่องจากการส่งออกที่ยังคงซบเซาและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 80 ของ GDP
นอกจากนี้ JCR รายงานเพิ่มเติมว่า สถานะทางการคลังของไทยยังคงแข็งแกร่ง เนื่องจากรัฐบาลปฏิบัติตามกรอบวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ดี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่เน้นระบบโครงข่ายทางถนนและรถไฟ วงเงินรวม 1.8 ล้านล้านบาท อาจทำให้ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในระยะปานกลาง และแม้ว่าในปีที่ผ่านมา ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลมากขึ้นเนื่องจากดุลการค้าและดุลภาคบริการเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจากผลของการนำเข้าสินค้าที่ลดลงและรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น การเกินดุลการค้าและบัญชีเดินสะพัดจะค่อยๆ ลดลง เนื่องจากการนำเข้าจะทยอยเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ JCR จะติดตามความคืบหน้าในการจัดการกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุและการหลุดพ้นจากกับดักรายได้ระดับปานกลาง ภายใต้พัฒนาการทางการเมืองที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งต่อไป รวมถึงจะติดตามสถานการณ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนและแนวโน้มระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ หากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
ข่าวเด่น