สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเผยเศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน ที่ขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 36.9 ต่อปี และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 16.0 ต่อปี ประกอบกับการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นบ้างในหมวดการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีการชะลอตัว ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2559 “เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่ขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 36.9 ต่อปี และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 16.0 ต่อปี ประกอบกับการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นบ้างในหมวดการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีการชะลอตัว ซึ่ง สศค. จะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป” โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
การบริโภคภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีสัญญาณชะลอตัว แม้ว่าเครื่องชี้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 1.7 ต่อเดือน จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อปี เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้การบริโภคตัวอื่นหดตัวลง โดยปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ -11.1 ต่อปี โดยเป็นการหดตัว ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และในเขตภูมิภาค เนื่องจากผู้บริโภคได้มีการเร่งการบริโภคไปในช่วงก่อนหน้าที่บริษัทจำหน่ายรถจักรยานยนต์ได้มีการทำโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา
สำหรับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -29.9 ต่อปี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมปรับตัวลดลงเป็นเดือน ที่ 2 ติดต่อกัน โดยอยู่ที่ระดับ 63.5 เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยยังไม่ฟื้นตัว กอปรกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรส่งออกหลัก อาทิ ยางพารา และข้าว ที่ลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบและภาวะเศรษฐกิจโลก ในขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริงหดตัวร้อยละ -9.5 ต่อปี
การลงทุนภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีสัญญาณดีขึ้นบ้าง โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่อเดือน สำหรับปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์กลับมาขยายตัวร้อยละ 6.0 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อเดือน ทางด้านดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างยังคงหดตัวต่อเนื่องแต่หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -5.0 ต่อปี ตามการลดลงของราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ปรับตัวลดลงตามราคาตลาดโลก
นอกจากนี้ การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อเดือน อย่างไรก็ตามปริมาณนำเข้าสินค้าทุนกลับมาหดตัวที่ร้อยละ -11.6 ต่อปี และเมื่อหักสินค้าพิเศษ (เครื่องบิน เรือ และรถไฟ) พบว่า หดตัวร้อยละ -8.3 ต่อปี
สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายของรัฐบาลจากการเร่งรัดการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวในระดับสูง โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรวมเบิกจ่ายได้จำนวน 160.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.8 ต่อปี การเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 138.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อปี แบ่งเป็น (1) รายจ่ายประจำ 108.9 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -0.8 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 29.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 36.9 ต่อปี สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาล พบว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 154.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี ขณะที่ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -13.9 พันล้านบาท
ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐขยายตัวถึงร้อยละ 10.3 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 17.6 ต่อเดือน ซึ่งมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีนี้มาจากสินค้าในกลุ่มพิเศษชั่วคราว
โดยเฉพาะการส่งออกทองคำ และยุทโธปกรณ์ เช่น เมื่อหักมูลค่าการส่งออกทองคำออกจะทำให้มูลค่าการส่งออก (หักทองคำ) ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี ทั้งนี้ การส่งออกขยายตัวในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดคู่ค้าหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐ ฮ่องกง และตลาดอาเซียน-5 และสินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดีมาจากสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะผักผลไม้กระป๋องและแปรรูป และน้ำตาล รวมถึงกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสำคัญ
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานยังคงขยายตัวได้ดีจากภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีจำนวน 3.1 ล้านคน ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ ร้อยละ 16.0 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อเดือน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก และนักท่องเที่ยวจากยุโรปขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ส่วนหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากรัสเซียที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 22 เดือน นับจากเดือนเมษายน 2557 สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัว ร้อยละ -2.0 ต่อปี
โดยสินค้าเกษตรที่หดตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน เป็นสำคัญ สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -1.6 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูการลออกขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อเดือน ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 85.1 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากความกังวลต่อการชะลอตัวของกำลังซื้อภายในภูมิภาค ปัญหาภัยแล้งที่ขยายพื้นที่ไปในวงกว้าง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว
เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 3.4 แสนคน ขณะที่สัดส่วน หนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมกราคม 2559 อยู่ที่ระดับร้อยละ 44.1 ถือว่ายังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ระดับ 168.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.1 เท่า
ข่าวเด่น