กระทรวงเกษตรฯ ชี้ผลเยือนจอร์แดนเป็นไปด้วยดี เตรียมเริ่มทดลองฝนหลวงในจอร์แดนปลายเดือน มี.ค.นี้ ด้านการหารือกับภาคเอกชนสนใจผลไม้ไทยไปขายตลาดจอร์แดน ส่วนปฏิบัติการฝนหลวงในไทยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาช่วยให้ฝนตกใน 24 จว. ย้ำยังควบคุมสถานการณ์น้ำเค็มได้
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเยือนราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน ระหว่างวันที่ 22 – 25 มีนาคม ที่ผ่านมา ว่า การเดินทางไปเยือนราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดนในครั้งนี้ เพื่อลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการดัดแปรสภาพอากาศโดยเทคโนโลยีฝนหลวง ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน
โดยนายอาร์เหม็ด มัฟเล่ อาเคฟ อัล ซูบี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร จอร์แดน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐบาลจอร์แดนได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำฝนหลวงที่มาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และนำไปใช้แก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนชาวจอร์แดนจากปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากกระทรวงน้ำและชลประทานของจอร์แดน ได้แสดงความสนใจในการทำฝนหลวงของไทยเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลในจอร์แดน ประกอบกับเป็นโอกาสอันดีในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับจอร์แดนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย – จอร์แดน การไปเยือนในครั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยังได้ร่วมหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร จอร์แดน และได้พบปะพูดคุยกับภาคเอกชนที่ทำธุรกิจการเกษตรในจอร์แดนด้วย
สำหรับผลการหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของจอร์แดน มีข้อสรุปร่วมกันใน4 ประเด็น คือ 1. ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันดำเนินงานตามข้อตกลงต่างๆ ในบันทึกความเข้าใจฯ ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการดัดแปรสภาพอากาศโดยเทคโนโลยีฝนหลวง ที่ทั้งสองฝ่ายได้มีความตกลงร่วมกันในการจัดทำขึ้นให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ 2. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันที่จะเร่งรัดดำเนินการการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม 3. ทั้งสองฝ่ายจะให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกการนำเข้าสินค้าเกษตรระหว่างกันเพิ่มขึ้น 4. ไทยยินดีที่จะสนับสนุนและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมาให้จอร์แดนใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรและประชาชนจอร์แดน
ส่วนการหารือกับหน่วยงานด้านการเกษตรและภาคเอกชน ได้หารือกับผู้บริหารของหน่วยงานด้านการเกษตรและภาคเอกชนจอร์แดน รวม 3 หน่วยงาน ได้แก่ เอกชนที่ทำธุรกิจเกษตรแบบน้ำหยด เอกชนผู้ทำการเพาะเลี้ยงปลาในโรงเรือน และตลาดกลางสินค้าเกษตร โดยได้ศึกษาเทคโนโลยีความก้าวหน้าของการทำการเกษตรแบบน้ำหยด ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปลูกพืชบางชนิดในประเทศไทย และศึกษาระบบการเพาะเลี้ยงปลาในโรงเรือนที่มีการหมุนเวียนการใช้น้ำและบำบัดน้ำเสียอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้
ยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลการบริหารจัดการตลาดสินค้าเกษตรของไทย พร้อมทั้งเสนอให้จอร์แดนนำเข้าสินค้าผลไม้จากประเทศไทยมาจำหน่ายยังตลาดดังกล่าว รวมทั้งได้หารือถึงโอกาสในการขยายการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยและจอร์แดน โดยจอร์แดนสนใจที่จะนำเข้าสินค้าผลไม้โดยเฉพาะมะม่วงจากประเทศไทยอีกด้วย
นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ด้านปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงวันที่ 25 – 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง 105 เที่ยวบิน ส่งผลให้เกิดฝนตกใน 24 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 7 จังหวัด ภาคกลาง 4 จังหวัด ภาคตะวันตก 6 จังหวัด ภาคตะวันออก 5 จังหวัด และภาคใต้ 2 จังหวัด รวมพื้นที่ที่ฝนตก 6.8 ล้านไร่ มีปริมาณน้ำไหลลง 6 เขื่อน จำนวน 15.8 ล้านลบ.ม. ส่วนแผนปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเดือนเมษายน กรมฝนหลวงฯ ได้มีการประเมินสถานการณ์และตรวจสอบสภาพอากาศ
โดยมีการวางแผนให้สอดคล้องกับการคาดการณ์ ซึ่งจะปรับแผนการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง โดยเน้นพื้นที่ประสบภัยแล้งเป็นหลัก เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่าง ด้านสถานการณ์ป้องกันน้ำเค็ม กรมชลประทานได้รายงานว่า จากปัจจัยของลมตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้น้ำทะเลหนุนสูงมากกว่าปริมาณที่คาดการณ์ 50 ซม. ส่งผลต่อค่าความเค็ม ซึ่งในวันนี้ค่าความเค็มได้ลดลง โดยกรมชลประทานได้เพิ่มปริมาณน้ำจากเขื่อนพระราม 6 ที่กักตุนน้ำไว้ ในอัตราจาก 20 ลบ.ม./วินาที เป็น 35 ลบ.ม./วินาที เมื่อรวมกับปริมาณที่ปล่อยน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา 75 ลบ.ม./วินาที เป็นปริมาณรวมทั้งสิ้น 110 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะช่วยรักษาระดับความเค็มให้อยู่ในค่าปกติได้ และอิทธิพลลมตะวันออกเฉียงใต้จะลดลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำเค็มสู่ระดับปกติ ไม่กระทบต่อการผลิตน้ำประปาแน่นอน” นายสุรพล กล่าว
ข่าวเด่น