เมื่อ30มีนาคม เวลา 18.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรม Four Seasons กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมงานกาล่าดินเนอร์ โดยสภาหอการค้าสหรัฐ U.S. Chamber of Commerce) และ สภาธุรกิจสหรัฐ ฯ –อาเซียน (US-ASEAN Business Council) ร่วมเป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี ในโอกาสร่วมประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ครั้งที่ 4 (Nuclear Security Summit) ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม-1 เมษายน 2559 โดยมีนายอเล็กซ์ เฟลด์แมน (Alex Feldman) ประธาน USABC และนางทามี โอเวอร์มี (Tami Overby) รองประธานอาวุโสด้านเอเชีย สภาหอการค้าสหรัฐ ฯ ให้การต้อนรับ
โดยภายในงานประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกาในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ กลุ่มพลังงาน ยาและเคมีภัณฑ์ ก่อสร้าง สื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ บริษัท Guardian (ธุรกิจผลิตกระจก) บริษัท Chevron Corporation (พลังงาน) บริษัท Philip Morris International (บุหรี่และยาสูบ) บริษัท Motorola Solutions (โทรคมนาคมและการสื่อสาร) และผู้แทนจากภาครัฐของสหรัฐ ฯ และคณะทูตานุทูต ร่วมรับฟังความก้าวหน้าการปฏิรูปประเทศและนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยนายกรัฐมนตรี ชี้แจงความก้าวหน้าการพัฒนาการเมืองและการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อนำพาประเทศสู่ “ความมั่นคง มั่นคั่งและยั่งยืน” ด้วยกลไก “ประชารัฐ” และลดอุปสรรคทางกฎหมายและมาตรการทางการค้า และผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยอตสาหกรรมแห่งอนาคตและเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระคำกล่าวนายกรัฐมนตรี ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน (USABC) และสภาหอการค้าสหรัฐ ฯ (USCC) มีความสาคัญต่อประเทศไทยขณะเดียวกันไทยก็มีความสำคัญต่อภาคเอกชนสหรัฐอเมริกา การพบปะวันนี้จะช่วยเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรประเทศไทยและภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกาและต่อ ยอดความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศกว่า 183 ปี ให้เข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นต่อไป นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง สภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ไม่สดใสนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปและสหรัฐฯ
สายตาของโลกจึงจับจ้องมาที่ภูมิภาคเอเชียซึ่งมีประชากรกว่า 4.5 พันล้านคน มี GDP รวมกันทั้งสิ้น 27 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีมูลค่าการค้ากว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าการค้าโลก นอกจากนี้ เอเชียยังเป็นศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ มีทรัพยากรมาก มีความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน แรงงานที่มีคุณภาพจำนวนมากและเริ่มมีกำลังซื้อสูงสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ จึงมีศักยภาพที่จะฟื้นโลกให้ตื่นตัวจากภาวะซบเซาและขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของภูมิภาคและของโลก
นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ ฯ ทีให้ความสำคัญกับไทยและอาเซียน โดยดำเนินนโยบายปรับสมดุลสู่เอเชีย หรือ Strategic Rebalancing ซึ่งทำให้สหรัฐฯ กลับมามีบทบาทเพิ่มขึ้นทางความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมในภูมิภาค ด้วยการกระชับความสัมพันธ์กับมิตรประเทศในภูมิภาคให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น นโยบายดังกล่าวช่วยปรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเล็กและใหญ่ในภูมิภาคให้ได้สมดุลขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ตั้งแต่ประเทศหมู่เกาะในอาเซียน และประเทศคู่เจรจาสำคัญนอกกลุ่ม อาทิ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐ ฯ โดยไทยเป็นจุดสำคัญเชื่อมต่อด้านต่าง ๆ เหล่านี้ ดังนั้น หากรัฐบาลสหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจดำเนินนโยบายในภูมิภาคเอเชียอย่างสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงประโยชน์ร่วมกันจะช่วยเสริมสร้างสันติภาพและความผาสุขให้เกิดขึ้นในภูมิภาค ซึ่งภาคเอกชนมีส่วนสำคัญในการเติมนโยบายของภาครัฐให้เต็มขึ้นด้วยกิจกรรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่จับจ้องได้เป็นรูปธรรม
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน เพื่อเป็นรากฐานให้แก่อนาคตประเทศ และให้ประเทศไทยสามารถเป็นหุ้นส่วนที่มีความรับผิดชอบ เข้มแข็งและสร้างสรรค์สำหรับสหรัฐฯ มิตรประเทศ และประชาคมโลก ในการสร้างความเข้มแข็งของประเทศจากภายใน นั้น รัฐบาลได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตั้งอยู่บนหลักสำคัญ 3 ประการ คือ ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน บนเงื่อนไขความรู้คู่คุณธรรม เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติที่จะขับเคลื่อนโลกนี้สู่โลกที่ยั่งยืน มีเศรษฐกิจที่ครอบคลุมลดความเหลื่อมล้ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านกลไกประชารัฐ (People Public Private Partnership – PPPP) เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปด้วยกัน โดยร่วมกับภาคเอกชนรายใหญ่ของประเทศจัดคณะทำงานขับเคลื่อนประชารัฐ 13 คณะทำงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ SMEs
แม้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความแปรปรวนและการชะงักงันของเศรษฐกิจโลก แต่ยังสามารถเติบโตได้มากกว่าที่คาดการณ์ในปี 2558 ด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่เป็นจุดแข็ง คือ ระดับเงินสำรองสูง อัตราการว่างงานต่ำ แรงงานมีทักษะ ที่มีความขยันขันแข็ง มีคุณภาพและสร้างสรรค์ เป็นต้น ซึ่งเศรษฐกิจ ไทย – สหรัฐฯ ผูกโยงกันอย่างแน่นแฟ้น มูลค่าการค้า ไทย-สหรัฐฯ ในปี 2558 อยู่ที่ 39,841 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าลำดับที่ 3 ของไทย ในด้านการลงทุน ปัจจุบันมีบริษัทสหรัฐฯ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยกว่า 100 ในทุกสาขาอุตสาหกรรม มีมูลค่ารวม มากเป็นลำดับที่ 2
รัฐบาลสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน โดยให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและธรรมภิบาล และประกาศให้ “การต่อต้านทุจริต” เป็น “วาระแห่งชาติ” มีการตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) มีการกำหนดให้ทำสัญญาคุณธรรม (IP) ว่าจะไม่มีการรับหรือให้สินบน และใช้ระบบ CoST เพื่อประชาชนสามารถตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ลดช่องทางการหารประโยชน์จากผู้มีอำนาจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล รวมทั้ง ผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการดำเนินธุรกิจ (Ease of doing business) โดยออก “มาตรการอำนวยความสะดวก การให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าและการดำเนินธุรกิจ อาทิ การลดหย่อนภาษีนิติบุคคล การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร จัดตั้งศูนย์บริการด้านการลงทุน (OSOS) ของ (BOI) เพื่อส่งเสริมการลงทุนต่างชาติในไทย
นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า การปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ นำมาซึ่งโอกาสในการกระชับความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างในหลายประการ
ประการแรก รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งแบบคลัสเตอร์และซูเปอร์คลัสเตอร์ เป็นหนึ่งในนโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมให้รวมกลุ่มของธุรกิจและสถาบันที่เกี่ยวข้อง สำหรับการดำเนินกิจกรรมที่เชื่อมโยงกัน อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ส่งเสริมให้กระชับความร่วมมือ เกื้อหนุน และลดอุปสรรค เพื่อพัฒนาห่วงโซ่มูลค่า (value chain) อย่างครบวงจร ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน เสริมสร้างศักยภาพด้านการลงทุนของไทย และช่วยกระจายความเจริญ จากท้องถิ่นไปสู่ภูมิภาค ซึ่งการลงทุนแบบคลัสเตอร์นี้ จะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษเพิ่มเติม จากการลงทุนแบบปกติทั่วไป
โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) 5 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) 5 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจร โดยมีมาตรการและสิทธิพิเศษทางภาษี
ประการที่สอง เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เป็นก้าวสำคัญ สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ให้มีความทันสมัยและสะดวกสบาย โดยการพลิกโฉมทั้งระบบบริหารจัดการและการให้บริการ บนพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ การวางระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทั่วประเทศ การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสาร (data center) การพัฒนาการให้บริการและการทำธุรกรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐแบบดิจิทัล (e-Government) ซึ่งล่าสุดได้จัดการประมูลคลื่นความถี่ สำหรับเทคโนโลยี 4G ซึ่งเป็นไปอย่างโปร่งใส และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรี นอกจากนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) อยู่ระหว่างการเสนอร่างกฎหมายจำนวน 8 ฉบับ ให้รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล แบบครบวงจร ให้ สนช. พิจารณาภายในเดือนนี้ รวมทั้ง การจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล พ.ศ. 2559 – 2563 อีกด้วย ซึ่งจะเปิดโอกาสที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยต่อไป
ประการที่สาม การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการส่งเสริม ให้มีการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตและขยายผลเป็นอุตสาหกรรมต่อไป เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 คณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการละเมิดบนอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างจัดทำแผนปฏิบัติการการปฏิรูปทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งระบบ ครอบคลุม 4 ด้าน คือ การสร้างสรรค์ การคุ้มครอง การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และการป้องปราม โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการชูให้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน นอกจากนี้ รัฐบาลได้เร่งปรับปรุงกฎหมาย และการพัฒนาระบบการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้มาตรการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ โดยรัฐบาลได้แสดงความจริงใจ จริงจัง ในการดำเนินการดังกล่าว ด้วยการจัดสรรทรัพยากรภาครัฐเพิ่มเติม เช่น เพิ่มอัตรากำลังผู้ตรวจสอบ ให้สามารถรองรับปริมาณคำขอจดทะเบียนที่ตกค้างในอดีต และมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งให้ความสำคัญ ในเรื่องการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนทุกวัย รวมทั้งเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ด้วยการสอดแทรกอยู่ในบทเรียน ให้มีความเข้าใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ประโยชน์ของการคุ้มครอง และผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ เมื่อมีการละเมิด เป็นต้น
โดยรัฐบาลไทยให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการเสริมสร้าง ความเชื่อมโยงประเทศกับอาเซียน ด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ โดยเดินหน้าการลงทุน โครงสร้างขนาดใหญ่ หลายรายการ (1) ทางราง เช่น รถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง รถไฟความเร็วสูง ระหว่างเมืองสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-หัวหิน กรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด และรถไฟฟ้า 10 เส้นทางใหม่ (2) ทางน้ำ ได้แก่ การปรับปรุงขยายท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง และท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเรือสำราญ และเรือยอร์ช ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง (3) ทางอากาศ ได้แก่ โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 โครงการปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภา เพื่อยกระดับให้เป็นหนึ่งในสนามบินนานาชาติ โครงการปรับปรุง สนามบินดอนเมือง ซึ่งได้เริ่มโครงการไปแล้วหลายขั้นตอน
นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงการประชุมระดับผู้นำอาเซียน-สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ ที่ Sunnylands ณ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พร้อมเชิญชวนนักลงทุนสหรัฐ แสวงหาโอกาสการลงทุนในประเทศ รวมถึงภูมิภาคอาเซียนโดยรวม
ข่าวเด่น