นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงภาวะการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก ในส่วนของไทยได้ให้ความสำคัญในการติดตามเฝ้าระวัง ปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ขณะเดียวกันรัฐบาลเร่งเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมมาตรการรองรับเรื่องต่างๆ ในอนาคต เพื่อสร้างความเข้มแข็งของประเทศโดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเบิกจ่ายงบประมาณอย่างเหมาะสม แม้ว่า กองทุนสำรองการเงินระหว่างประเทศจะอยู่ในระดับสูง รัฐบาลเร่งปฎิรูป เศรษฐกิจภายในประเทศ ปรับโครงสร้างการนำเข้า-ส่งออก รักษาอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้ค่าเงินที่อยู่ในระดับที่เหมาะสม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แม้หน่วยงานระหว่างประเทศจะเป็นผู้กำหนดกติกา แต่การทำงานเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน เพื่อประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน อาทิ การรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจ จะต้องมีการอธิบายสาเหตุหรือปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญในการเบิกจ่ายงบประมาณ ทั้งงบประมาณเพื่อการดำเนินงาน (Function) และงบประมาณตามภารกิจ (Agenda) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างส่วนกลางกับภูมิภาค ทั้งการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาและโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีเป้าหมายเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค
นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงแนวทาง “ประชารัฐ” ว่า เป็นความร่วมมือกับภาคเอกชนรายใหญ่จำนวน 13 กลุ่ม เพื่อดึงภาคประชาชน เอกชน และรัฐบาล มาช่วยกันลงทุนพัฒนาประเทศ ซึ่งสิ่งสำคัญ คือ ประเทศไทยต้องปลอดจากการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งหากพบเห็นโครงการหรือกลุ่มใดทำการทุจริต จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด
นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงการดำเนินนโยบายต่างๆ อาทิ การปฏิรูปการศึกษา โดยเน้นการปรับโครงสร้างการศึกษาทั้งหมด รวมทั้งการพิจารณาเทียบวุฒิการศึกษาต่างประเทศ เพื่อให้คนจบการศึกษาด้านศาสนาจากต่างประเทศสามารถเทียบวุฒิและใช้ในการทำงานได้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญในการดูแล รักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ การเรียกคืนพื้นป่า มีโครงการต่างๆ ที่จะทำให้คนและป่า สามารถอยู่ร่วมกัน สำหรับปัญหาความต้องการแรงงาน จะต้องมีการจัดหาแรงงานที่เหมาะสมให้เพียงพอกับความต้องการ
นอกจากนี้ ไทยยังเห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่ทุกประเทศต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งในระดับทวิภาคีและไตรภาคีและความร่วมมือระดับกลุ่มประเทศทั้งกลุ่ม G77 และ ความร่วมมือเอเชีย ACD เพื่อสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ และเพิ่มอำนาจต่อรองระหว่างประเทศด้วย
โอกาสนี้ ผู้แทนบุคลากรไทยทีทำงานกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวถึงมุมมองของกองทุนฯ ว่า เศรษฐกิจที่มีการเติบโตที่ดี จะมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างเสถียรภาพ และความมั่นคงให้กับโลก ดังนั้น บทบาทของกองทุน ฯ จะทำหน้าที่เป็นทั้งนักดับเพลิง คือ เร่งกำจัดวิกฤตทางการเงิน เมื่อประเทศสมาชิกเกิดวิกฤต เหมือนการดับไฟ กองทุน ฯ จะทำหน้าที่ประเมิณสถานการณ์ทางการเงินของแต่ละประเทศอย่างสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับ การพบหมอเพื่อตรวจสุขภาพ และบทบาทสุดท้าย คือ การเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ (Capacity Buiding ) และการฝึกอบรม การดำเนินการต่างๆ เพื่อกำจัดความเสี่ยงในการเกิดวิกฤต เพราะ การแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจนั้น มีต้นทุนมหาศาล เช่น ประเทศไทย ที่เคยประสบวิกฤตการเงินเมื่อปี 2540 ซึ่งถือเป็นบทเรียนราคาแพง ส่งผลให้ไทยมีการพัฒนาในการกำกับสถาบันการเงิน เข้มแข็งยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม กองทุน ฯ ก็มีการประเมินบทบาทของตนเองระยะและยอมรับว่าไม่สามารถใช้แนวทางชุดเดียวในการแก้ทุกปัญหา และการให้ยาแรงเกินไปในวิกฤตไทยเมื่อปี 2540
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุน ฯ ได้ลงพื้นที่จริงเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจไทยพบว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตดีกว่าประมาณการณ์ โดยที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 2-3 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม กองทุน ฯ มองถึงศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่สามารถเติบโตได้มากกว่านี้ ที่ผ่านมาไทยมีการรักษาวินัยทางการเงินการคลังอย่างดี สามารถผลักดันการเบิกจ่ายภาครัฐทีี่ทำได้ดี ส่งผลมีการลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น สร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชน นอกจากนี้ มีความพยายามผลักดัน พ.ร.บ การเงินการคลัง เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการคลัง และขจัดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นข้างหน้า สำหรับ ความสี่ยงภายในประเทศ คือ หนี้ครัวเรือน ที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ภาคการบริโภคไม่สามารถฟื้นตัวได้ ปัจจัยต่างประเทศ ที่เกิดจากการปรับตัวของจีน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยลดพึ่งพาการส่งออก อาจสร้างความผันผัวทางการเงินส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินสู้ขึ้น ล้วนแต่ส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทย
คณะทำงานของกองทุน ฯ เห็นพ้องกับมาตรการดูแลเศรษฐกิจระยะสั้น ที่มีความจำเป็นที่จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างสมำเสมอ รวมทั้งการที่รัฐบาลได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว 20 ปี ซึ่งจะเป็นพิมพ์เขียวในการพัฒนาประเทศให้มีความต่อเนื่อง รวมทั้งการเพิ่มช่องทางสื่อสารประชาสัมพันธ์ทั้งในหมู่นักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจถึงประโยชน์จากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่มีต่อเศรษฐกิจ และการลงทุน อย่างไรก็ตาม ไทยเร่งพัฒนาในทุกมิติ เพื่อก้าวข้ามกักดับประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ในขณะที่ประเทศ CLMV สามารถพัฒนาตนเอง ปัญหาต่างๆ จะต้องเร่งแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การย้ายถิ่นฐาน การปฏิรูประบบบำนาญ การปรับปรุงมาตรการทางภาษี รวมทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ
ทั้งนี้ ผู้แทนบุคลากรไทยที่ทำงานกับธนาคารโลก ได้กล่าวว่า ปัจจุบัน ไทยได้เปลี่ยนบทบาทจากประเทศผู้รับเป็นผู้ให้ ขณะนี้ ธนาคารโลกอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานสุขภาพทางการเงินการคลังของประเทศ โดยมีข้อสังเกตว่า ไทยยังมีข้อจำกัด 5 ด้านสำคัญ คือ ผลิตภาพ (productivity) การศึกษา ประสิทธิภาพระบบราชการ ปัญหาผู้สูงอายุและแรงงาน และปัญหาส่ิงแวดล้อม ดังนั้น ปัจจัยสำคัญ คือ ไทยจะเร่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม พัฒนาประสิทธิภาพระบบราชการ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการอำนวยความสะดวกแก่การดำเนินธุรกิจของต่างประเทศในไทย ซึ่งทุกมิติดังกล่าวนี้ต่างเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศมีเสถียรภาพ คนไทยมีศักยภาพ สิ่งสำคัญ คือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ มั่นใจว่าประเทศยังสามารถเดินหน้าต่อไปหากคนไทยทุกคนช่วยกัน รัฐบาลส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกของคนไทย ให้มีคุณธรรม เพราะการทำความดีคือ การสร้างประโยชน์ต่อตนและส่วนร่วม และขอให้ทุกคนร่วมมือกันทำในสิ่งที่ดีเพื่อประเทศชาติ
ข่าวเด่น