วันนี้ (1 เมษายน 2559) นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้อากาศในประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้น และจากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงสัปดาห์นี้ความร้อนจะปกคลุมประเทศไทย ทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในบางพื้นที่ ซึ่งอากาศที่ร้อนแบบนี้เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอย่างมาก และอาจทำให้อาหารบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ ประชาชนจึงมีความเสี่ยงเจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินอาหารสูงกว่าฤดูกาลอื่นๆ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ
จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 28 มี.ค. 2559 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ 30,203 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต และพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 276,230 ราย เสียชีวิต 2 ราย ตลอดทั้งปี2558 ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ 129,638 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต และพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 1,097,751 ราย เสียชีวิต 12 ราย
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า สำหรับช่วงที่อากาศร้อนและอบอ้าวแบบนี้ อาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหารที่ประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ 10 เมนู ได้แก่ 1.ลาบ/ก้อยดิบ 2.ยำกุ้งเต้น 3.ยำหอยแครง 4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู 5.อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด 6.ขนมจีน 7.ข้าวมันไก่ 8.ส้มตำ 9.สลัดผัก และ 10.น้ำแข็ง ที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน จึงขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการกินอาหารและน้ำดื่ม ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ปรุงเองที่บ้าน อาหารสั่งซื้อ หรือออกไปกินอาหารตามร้านนอกบ้าน ที่สำคัญควรกินอาหารเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ ไม่กินแบบสุกๆ ดิบๆ ส่วนอาหารทะเลก็ขอให้ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้ อาหารถุง อาหารกล่อง ควรแยกกับข้าวออกจากข้าว ควรกินภายใน 2 - 4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง สำหรับอาหารเหลือต้องเก็บในตู้เย็นและทำให้สุกก่อนนำมากินใหม่ แต่หากมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรกินเด็ดขาด
การป้องกันทั้งสองโรคดังกล่าวให้ปฏิบัติ ดังนี้ กลุ่มผู้ประกอบการอาหาร ขอให้ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึงและสะอาด ล้างผัก/ผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้มีด เขียง หั่นอาหารดิบและอาหารสุกแล้วร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค ดูแลครัวให้สะอาด ส่วนผู้บริโภคขอให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ได้แก่ 1.กินร้อน คือ กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ในกรณีข้าวกล่อง อาหารถุง ต้องนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนกินทุกครั้ง 2.ใช้ช้อนกลาง คือ เมื่อกินอาหารในคนหมู่มากร่วมกัน ควรใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร และ 3.ล้างมือ คือ ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหาร ก่อนปรุงอาหาร หลังขับถ่าย และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก
“โรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง มีอาการคล้ายๆกัน คือ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวบ่อยครั้ง อาจมีไข้ต่ำๆ ส่วนการดูแลเบื้องต้น ให้ดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้นยังถ่ายบ่อย รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ หรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด ขอให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์อำนวย กล่าวปิดท้าย
ทอท.เผย
ข่าวเด่น