เมื่อวันที่1เมษายน เวลา 11.00 น. ณ ศูนย์ประชุม Walter E. Washington Convention Center กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลง ช่วงเปิดการประชุม (Opening Session) ในการประชุม Nuclear Security Summit ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการส่งเสริมความมั่นคงทางนิวเคลียร์ (National Actions to Enhance Nuclear Security) โดยไทยให้ความสำคัญในการออกกฎหมายฉบับใหม่และปฎิบัติตามกรอบพันธกิจระหว่างประเทศ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความมั่นคงทางนิวเคลียร์ และได้ดำเนินการอย่างจริงจัง โดยพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฉบับใหม่ จะประกาศใช้ภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อเป็นกฎหมายรองรับให้ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง เช่น อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปราบปรามการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ (ICSANT) และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองทางกายภาพของวัสดุนิวเคลียร์ (CPPNM) เป็นต้น ซึ่งไทยจะดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์ได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ไทยกำลังปรับปรุงกฎระเบียบภายในเพื่อให้การปฏิบัติมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากขึ้นด้วย เช่น การปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยวัสดุนิวเคลียร์ และการยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปราบปรามการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ โดยอิงกับมาตรฐานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ
เมื่อปีที่แล้ว ไทยได้ประกาศใช้กฎระเบียบฉบับใหม่ในเรื่องการส่งออกและนำเข้าสินค้าที่ใช้ได้สองทาง การให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานศุลกากรในการตรวจสอบ ตรวจค้น และริบสินค้าต้องสงสัย การปรับปรุงกลไกประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยบังคับใช้กฎหมาย หน่วยข่าวกรอง ตำรวจ ศุลกากร พาณิชย์ และหน่วยงานกำกับดูแลด้านนิวเคลียร์ ปฏิบัติงานได้อย่างสอดประสานกัน ในการสกัดกั้นการขนส่งสินค้าต้องสงสัยตลอดจนการสร้างองค์ความรู้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่ชายแดนที่อาจมีความสุ่มเสี่ยงที่ผู้ไม่ประสงค์ดีอาจจะลักลอบเข้าเมืองหรือขนส่งสินค้าต้องห้ามออกไป
นายกรัฐมนตรียังกล่าวต่อไปว่า ความมั่นคงทางนิวเคลียร์เป็นเรื่องใกล้ตัว ดังนั้น ไทยจึงเน้นยกระดับความสนใจและความเข้าใจของสาธารณชนในเรื่องนี้ให้มากขึ้น ทั้งการป้องกันภัยและการรับมือกรณีที่เกิดเหตุ โดยเจาะกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ บุคลากรด้านการแพทย์ ผู้นำเข้า-ส่งออก หน่วยงานด้านความมั่นคง หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย นักวิชาการ และภาคประชาสังคมโดยทั่วไป เพื่อสร้างเครือข่ายบูรณาการดำเนินงาน และสร้างความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ เพราะเรื่องเล็กน้อยอาจจะส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่น ถ้ากากกัมมันตรังสีไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ก็อาจแพร่กระจายและส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ อาหารการกิน แหล่งน้ำ และสิ่งแวดล้อมโดยรวม
นายกรัฐมนตรีได้ย้ำในตอนท้ายว่า ไทยดำเนินการตามพันธกรณีในกรอบต่าง ๆ ที่เป็นภาคี และ NSS ช่วยเชื่อมโยงและเสริมสร้างความเข็มแข็งของกรอบความร่วมมือต่าง ๆ มากยิ่งขึ้นเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางนิวเคลียร์ เพราะเมื่อเกิดเหตุขึ้นก็จะส่งผลกระทบข้ามพรมแดน จึงต้องอาศัยเครือข่ายความร่วมมือทั้งระดับประเทศ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ การมารวมตัวพร้อมกันในที่นี้ก็เพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์ที่จะเดินหน้าร่วมมือกันในเรื่องนี้
ข่าวเด่น