ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สธ. เร่งผลักดันร่างกม.ควบคุมการใช้สเต็มเซลล์ บำบัด รักษาโรค ให้มีผลบังคับใช้ทันปีนี้


 



รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับแพทยสภา, อ.ย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลักดันร่างกฎหมายควบคุมการใช้เสต็มเซลล์บำบัดรักษาโรคให้มีผลบังคับใช้ทันในปีนี้  เพื่อยกมาตรฐานเทคโนโลยีวงการแพทย์ไทยก้าวนำในระดับสากล คนไทยได้ใช้ประโยชน์อย่างปลอดภัย   ป้องกันนำไปใช้ในทางที่ผิดคาดใช้เวลา 1 เดือนจะเสนอ ครม.อนุมัติได้ สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้แพทย์และสถานพยาบาลทุกแห่งที่ให้บริการต้องขึ้นทะเบียน ห้ามโฆษณาโอ้อวด ห้ามมีผลประโยชน์ร่วมเอเจนซี่ หากฝ่าฝืนมีโทษหนัก 
 
 
 

 
 
 
 
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ให้สัมภาษณ์ว่า ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แพทยสภา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการจัดทำกฎหมายควบคุมการบัดรักษาด้วยสเต็มเซลล์ในประเทศไทย ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วให้ทันภายในปี 2559 เพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าวงการแพทย์ไทยให้ก้าวหน้า ก้าวนำในระดับสากล เป็นประโยชน์กับประชาชนไทยที่จะได้รับบริการด้วยวิธีการสมัยใหม่โดยใช้สเต็มเซลล์ ซึ่งเป็นการนำเอาเซลล์ของมนุษย์ที่มีชีวิต มาใช้ในกระบวนการดูแลรักษา บำบัด บรรเทา ป้องกันโรคหรือสภาวะเสื่อมชราของร่างกายมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย  
 
 
วิธีการนี้กำลังเป็นกระแสได้รับความนิยมอย่างมาก และที่ผ่านมาวงการแพทย์ไทยได้พัฒนาเรื่อยมา จนสามารถใช้บำบัดรักษาโรคในระบบโลหิตได้แล้วจะขยายผลเพื่อรักษาโรคอื่นๆ ด้วย  ซึ่งจะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ และที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีระบบควบคุมกำกับการใช้เซลล์บำบัดตามแบบสากล  จึงต้องเร่งผลักดันให้มีกฎหมายควบคุมเป็นการเฉพาะ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ของไทยป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวต่อว่า การดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายควบคุมการบัดรักษาด้วยสเต็มเซลล์ในประเทศไทยครั้งนี้ จะนำร่างกฎหมายเดิมซึ่งเรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยเซลล์ทางการแพทย์ พ.ศ. ....” หรือร่างกฎหมายสเต็มเซลล์ ซึ่งได้ดำเนินการยกร่างมาตั้งแต่ปี 2557 และได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์มาแล้วในช่วงปี 2558 มาพิจารณา ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ หารือร่วมกับแพทยสภา, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อปรับปรุงสาระให้ถี่ถ้วน ครอบคลุม มีความสอดคล้องกับหลักจริยธรรมและหลักวิชาการ ตลอดจนส่งเสริม พัฒนา ควบคุมการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เกี่ยวกับเซลล์
 

สำหรับสาระสำคัญหลักของร่างกฎหมายฉบับนี้ เบื้องต้นประกอบด้วย การตั้งคณะกรรมการเซลล์ทางการแพทย์และคณะกรรมการจริยธรรม เพื่อควบคุม กำกับ ตรวจสอบการให้บริการ  ซึ่งการให้บริการดังกล่าวกำหนดให้ทำโดยแพทย์หรือทันตแพทย์ และทำเฉพาะในสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น  มีการควบคุมมาตรฐานการดำเนินการผลิตภัณฑ์เซลล์ ห้องปฏิบัติการ และธนาคารเซลล์ รวมทั้งการกำหนดข้อห้ามการโฆษณาโอ้อวดเกินความจริง
 
การห้ามมิให้มีนายหน้าหรือเอเจนซี่เรียกรับผลประโยชน์ตอบแทน และการส่งเสริม พัฒนาเกี่ยวกับเซลล์ทางการแพทย์ การเพิกถอนการขึ้นทะเบียน การอุทธรณ์  และการลงโทษ ซึ่งมีบทลงโทษแตกต่างกันตามฐานกระทำความผิด หากพิจารณาปรับแก้เสร็จสมบูรณ์แล้ว  จะส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามขั้นตอนต่อไป  
 

บันทึกโดย : วันที่ : 03 เม.ย. 2559 เวลา : 07:46:03

07-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 7, 2024, 8:52 pm