ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
'องอาจ' ชี้ คำถามพ่วง ของ สปท. มีนัยแอบแฝง


 



วันที่ 3 เมษายน 2559 ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ( สปท.) เสนอญัตติให้นายกรัฐมนตรีมาจากการลงมติของที่ประชุมรัฐสภา ในคำถามพ่วงของการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะส่งต่อให้ สนช.พิจารณา ว่าไม่เห็นด้วยที่จะมีคำถามลักษณะนี้พ่วงไปกับการทำประชามติ เพราะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนโดยตรง
 
 
 

1.ไม่ควรเป็นคำถามที่กระทบต่อกระบวนการตัดสินใจของประชาชน ต่อการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
2.ไม่ควรพ่วงคำถามประเด็นเชิงถามความเห็นมาสอบถามประชาชน การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนออกเสียงว่าเห็นชอบหรือ ไม่เห็นชอบ กับการถามความเห็น ควรแยกออกจากกัน
3. ควรเป็นคำถามในประเด็น หรือเรื่องที่มีความสำคัญต่อบ้านเมือง หรือมีผลกระทบกับประชาชนทั้งประเทศที่ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมตัดสินใจ
4.ควรคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ

นายองอาจ กล่าวเพิ่มเติมว่ากรณีที่รองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญบอกว่าฝ่ายการเมืองต้องไม่บิดเบือนเนื้อหาเช่นไปพูดโจมตีข้อบกพร่อง ร่างรัฐธรรมนูญ 2-3 มาตรา แล้วไปเหมารวม ทั้งที่รัฐธรรมนูญมีเป็นร้อยมาตราว่าเป็นร่างไม่ดีทั้งฉบับอาจเป็นการเข้าข่ายบิดเบือนหลอกลวงให้คนเข้าใจผิด มีโทษหนักจำคุกสูงสุด 10 ปี ตนมองว่าการที่มีผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2-3 มาตรา พร้อมกับการบอกว่ารัฐธรรมนูญไม่ดีทั้งฉบับไม่น่าจะเป็นการเข้าข่ายบิดเบือนหลอกลวงแต่อย่างใด เพราะรัฐธรรมนูญ 2-3 มาตราที่บกพร่องอาจเป็นมาตราสำคัญ การจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญเพราะรัฐธรรมนูญ 2-3 มาตรา จึงไม่น่าจะเป็นความผิด

รวมถึงมาตรา 62 ของร่าง พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า “ ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง” น่าจะเป็นข้อความที่ยากแก่การตีความเพราะถ้ามีผู้บอกว่า การมี ส.ว. สรรหา โดย คสช. ถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย การมีผู้กล่าวเช่นนี้จะถือว่าพูดผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือไม่ และถ้าถือว่าเป็นความผิด ผู้ถูกกล่าวหาว่าผิดจนถูกลงโทษคงยากที่จะยอมรับ

จึงขอฝาก สนช. พิจารณาให้รอบคอบ เพราะกฎหมายประชามติเป็นกลไกที่มีส่วนอย่างสำคัญที่จะทำให้เกิดการยอมรับผลของการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เช่นกัน
 

บันทึกโดย : วันที่ : 03 เม.ย. 2559 เวลา : 15:36:46

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:14 pm