วันนี้ (4 เมษายน 2559) นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้หลายพื้นที่ยังมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ประชาชนควรเตรียมพร้อมเฝ้าติดตามฟังประกาศเตือนและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และควรระมัดระวังปัญหาการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด หากฝนตกให้หลีกเลี่ยงไม่ตากฝน หรือถ้าเปียกฝนกลับถึงบ้านต้องรีบเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที เพราะเสื้อผ้าที่เปียกชื้นอาจจะทำให้ติดเชื้อราและเกิดโรคผิวหนัง รวมไปถึงระวังเรื่องสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่อาจหนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามบ้านและมุมมืดต่างๆ
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อว่า ในช่วงอากาศแปรปรวนนี้ ขอให้ประชาชนระมัดระวังการขับขี่บนท้องถนน หากมีฝนตกหนักหรือฟ้าคะนอง ควรหลีกเลี่ยงการเดินทาง เพราะถนนจะลื่นกว่าปกติอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บ ถ้าหากมีความจำเป็นต้องเดินทางควรตรวจสอบสภาพรถก่อนขับรถ เพื่อให้รถมีความพร้อมที่สุด โดยตรวจเช็ค เบรค ยางล้อ ที่ปัดน้ำฝน แตรรถ ไฟรถ หม้อน้ำ และน้ำมันเครื่อง หากมีปัญหาสายตา เช่น สั้น ยาว เอียง ควรใส่แว่นตลอดเวลาที่ขับรถ และในขณะที่ฝนตกควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ไม่ควรหลบใต้ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟ ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ เพราะฟ้าอาจจะผ่าลงมาและอาจได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บจากกิ่งไม้ เสาไฟ หรือถูกป้ายล้มใส่ เมื่อต้องอยู่กลางแจ้ง ขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง ต้องไม่ใส่เครื่องประดับโลหะ รวมทั้งถือวัตถุที่เป็นโลหะ เช่น ทองคำ ทองแดง เงิน เนื่องจากโลหะสามารถนำไฟฟ้าได้
ในขณะพักอาศัยอยู่ในบ้านหากมีฝนตกหนักๆ พร้อมกับการเกิดพายุลมแรง อาจมีลมพัดเข้ามาทำให้สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ตกหล่นลงมากระแทกศีรษะหรือร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ ดังนั้นควรเก็บสิ่งของที่มีน้ำหนักเบาที่สามารถปลิวตามลมไว้ในที่มิดชิด และควรตรวจสอบความแข็งแรงมั่นคงของบ้านเรือนให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันแรงลมหอบพัดบ้านเรือนพังเสียหาย และในขณะที่ฝนตกฟ้าคะนองควรเตรียมอุปกรณ์จำเป็น เช่น เทียนไข ไม้ขีดไฟ ตะเกียง ไฟฉาย และพกยารักษาโรคประจำตัวติดตัวไว้ตลอดเวลา งดเว้นการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดเพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร งดใช้โทรศัพท์มือถือชั่วคราวเพราะอาจเกิดฟ้าผ่าได้รับอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ หลังพายุสงบหากพบต้นไม้ในบริเวณบ้านโค่นล้ม ให้รีบตัดทิ้งทันที หรือหากพบเห็นเสาไฟฟ้าล้มหรือมีสายขาด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว
นายแพทย์อำนวย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในช่วงฝนตกอาจมีสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่หนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามมุมมืดต่างๆ ของบ้าน เช่น รองเท้า ตู้เก็บของ ครัว เป็นต้น โดยหลังจากฝนตกแล้วควรตรวจสอบในจุดต่างๆ ของบ้าน เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษเข้าบ้าน หากพบเจอควรตั้งสติให้ดี อย่าตกใจเกินเหตุ ให้เรียกคนมาช่วย หรือโทรขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669
ในกรณีที่ถูกงูกัด ผู้ถูกงูกัดจะไม่เสียชีวิตหรือมีอาการอันตรายร้ายแรงในทันที ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที จึงจะเริ่มมีอาการรุนแรง ควรจดจำลักษณะของงูว่าเป็นงูชนิดใดเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง จากนั้นให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ลดการเคลื่อนไหวอวัยวะที่ถูกงูกัดและไม่ควรขันชะเนาะ เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้น ๆ ขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดเป็นเนื้อตาย และห้ามกรีดแผล ดูดแผล ใช้ไฟ/ไฟฟ้าจี้ที่แผล โปะน้ำแข็ง สมุนไพรพอกแผล ดื่มสุรา กินยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของแอสไพริน การกระทำเหล่านี้ไม่ช่วยรักษาผู้ถูกงูกัดแต่จะมีผลเสีย เช่น เพิ่มการติดเชื้อ เนื้อตาย และทำให้เสียเวลาที่จะนำส่งผู้ถูกงูกัดไปสถานพยาบาล ที่สำคัญให้นำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและโดยเร็วที่สุด
ส่วนในกรณีที่ถูกตะขาบ แมงป่องกัด ให้ทาแผลด้วยแอมโมเนียหรือครีมไตรแอมซิโนโลน หากมีอาการปวดมากหรือมีอาการแพ้ เช่น หนังตาบวม หายใจไม่สะดวก ควรรีบไปพบแพทย์ อย่างไรก็ตามถ้าเป็นไปได้ควรป้องกันไม่ให้งูหรือสัตว์มีพิษกัด โดยไม่เข้าไปในที่รก แช่น้ำเป็นเวลานาน การลุยน้ำควรแต่งกายให้มิดชิด กางเกงขายาว สวมถุงพลาสติกหุ้มเท้า และหุ้มปลายขากางเกงทั้งสองข้างแล้วรัดด้วยเชือกหรือยาง เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษเข้าไปในกางเกง หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ข่าวเด่น