ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ๔ เมษายน ๒๕๕๙ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๔/๒๕๕๙ เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
โดยที่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓ ยังไม่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน อันเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่อาจใช้บังคับได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น เพื่อทำหน้าที่แทนสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
อีกทั้งในการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้จำเป็นต้องมีการประสานการทำงานร่วมกันกับ
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตาม ตรวจสอบ ประเมิน และอำนวยการในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จึงสมควรเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อบูรณาการการบริหาร การพัฒนา และการรักษาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาและปฏิรูปการบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้และการบริหารราชการแผ่นดิน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการจำนวนไม่เกินหกสิบคนซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ หรือมีผลงานเป็นที่ยอมรับในด้านการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดยการพิจารณาร่วมกันของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนไม่เกินสี่สิบห้าคน
(๒) ผู้ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา จังหวัดละไม่เกินสองคน
(๓) ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นจำนวนไม่เกินห้าคน ให้กรรมการตามวรรคหนึ่งเลือกกันเองเป็นประธานกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้หนึ่งคน รองประธานกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดน ภาคใต้สองคน และเลขานุการกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้หนึ่งคน
ข้อ ๒ กรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี
ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่ เข้ารับหน้าที่
ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุตาย ลาออก หรือนายกรัฐมนตรีให้ออก ให้คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ และให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างตามที่เห็นสมควร โดยให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน
ข้อ ๓ ให้งดใช้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ (๑) (๓) (๕) (๖) (๗) และ (๙) มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓ จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นและให้คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่แทนสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามมาตรา ๒๓ (๒) (๔) และ (๘)แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓
ข้อ ๔ ให้งดใช้บังคับบรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่งหรือมติของคณะรัฐมนตรีใด ในส่วนที่อ้างถึงสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ข้อ ๕ เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในกรณีที่ต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ปรึกษาหารือและรับข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไปดำเนินการหรือปฏิบัติงาน
ในกรณีที่มีปัญหาว่าการดำเนินการหรือการปฏิบัติงานใดต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันตามวรรคหนึ่งหรือไม่ หรือในกรณีที่การดำเนินการตามวรรคหนึ่งมีความจำเป็นต้องพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อยุติให้เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เสนอเรื่องดังกล่าวต่อรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเพื่อพิจารณาวินิจฉัยสั่งการ
ข้อ ๖ ในกรณีที่เกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการประสานงาน หรือดำเนินการอื่นที่จำเป็นเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าท่ตามกฎหมายวาด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้วย
ข้อ ๗ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๙
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ข่าวเด่น