ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 36 – 42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 38 – 44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (4 เม.ย. - 8 เม.ย. 59)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะผันผวนและได้รับแรงกดดันต่อเนื่อง จากปริมาณสต๊อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับ ความไม่แน่นอนของผลการประชุมระหว่างกลุ่มผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปก เพื่อหารือในการตรึงกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ระดับเดียวกับเดือน ม.ค.59 หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียและคูเวตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ราคายังคงได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์เมื่อเทียบกับสกุลยูโร หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกัน โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง (สิ้นสุด ณ วันที่ 25 มี.ค.) ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 2.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 534.8 ล้านบาร์เรล หลังปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบและปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับลดลงเล็กน้อย 0.3 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 66 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ระดับดังกล่าวยังคงเป็นระดับที่ค่อนข้างสูงเนื่องจากคิดเป็นกว่าร้อยละ 91 ของความจุของถังน้ำมันปริมาณน้ำมันดิบ
ภาวะอุปทานล้นตลาดยังคงส่งผลกดดันราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปกยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่องหลังซาอุดิอาระเบียและคูเวตตกลงกันได้ว่าจะกลับมาผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง Khafji ที่มีกำลังการผลิต 300,000 บาร์เรลต่อวัน และผลสำรวจล่าสุดของ Reuters คาดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกเดือน มี.ค. จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 32.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากอิรักและอิหร่านยังคงเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นต่อเนื่อง
จับตาการประชุมผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกรวม 15 ประเทศ ซึ่งมีกำลังการผลิตราว 73 % ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบของโลก ในวันที่ 17 เม.ย. นี้ ณ เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อตกลงในการคงกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ระดับเดียวกับ ม.ค.59 และรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันดิบ
ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดอิหร่านได้ออกมาตอบรับจะเข้าร่วมการประชุม ขณะที่เอกวาดอร์เสริมว่า ผู้ผลิตในละตินอเมริกาจะมีการประชุมเพื่อหารือถึงข้อตกลงดังกล่าวในวันที่ 8 เม.ย. นี้ด้วย อย่างไรก็ดี สำนักงานพลังงานสากล (IEA) มองว่าการประชุมดังกล่าวอาจจะไม่มีนัยสำคัญที่จะพยุงราคาน้ำมันดิบให้ฟื้นตัวได้ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ซาอุดิอาระเบียจะเพิ่มกำลังการผลิต รวมถึงลิเบียที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะไม่เข้าร่วมการประชุม
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงและส่งผลกดดันราคาน้ำมันดิบน้อยลง หลัง Janet Yellen ประธานธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Fed) ได้ออกมาให้ความเห็นว่า เฟดจะเพิ่มความระมัดระวังในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้น เนื่องจากยังคงกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางและอาจจะยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการบริการ (Market Service PMI) ยูโรโซน ยอดค้าปลีกยูโรโซน ดัชนีภาคการบริการจีน (Caixin China Services PMI) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (28 มี.ค. - 1 เม.ย. 59)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 2.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 36.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง 1.77 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 38.67 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 36 เหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อภาวะอุปทานล้นตลาด หลังจากซาอุดิอาระเบียและคูเวต ประกาศที่จะกลับมาผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง Khafji นอกจากนี้ ยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกในเดือน มี.ค. ปรับเพิ่มขึ้นราว 100,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นผลมาจากกำลังการผลิตของอิรักและอิหร่านที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดได้รับแรงสนับสนุนจากค่าเงินดอลล่าสหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
โดย หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์
ข่าวเด่น