กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้ปกครองดูแลเด็กใกล้ชิดช่วงปิดเทอมหน้าร้อน พร้อมฝึกทักษะ“ลอยตัว ชูชีพ ช่วยเหลือ ปฐมพยาบาล” เผยปี 2559 พบเด็กจมน้ำ 54 เหตุการณ์ เสียชีวิต 55 ราย เฉพาะปิดเทอมเดือนมีนาคมพบถึง 22 เหตุการณ์ เกือบทั้งหมดเป็นเด็กวัยเรียนอายุ 5–13 ปี โดยไปเล่นน้ำเป็นกลุ่มไม่มีผู้ใหญ่คอยดูแล ขาดทักษะการเอาชีวิตรอด ทำให้เสียชีวิตและบาดเจ็บพร้อมกันครั้งละหลายคน
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงฤดูร้อน เป็นช่วงปิดเทอมของเด็กๆวัยเรียน กิจกรรมที่เด็กนิยมทำเพื่อคลายร้อน คือ การชักชวนกันไปเล่นน้ำในแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้บ้าน ทั้งในสระว่ายน้ำ ห้วย คลอง อ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ และทะเล ที่น่ากังวลคือเด็กส่วนใหญ่ยังว่ายน้ำไม่เป็น หรือหากว่ายน้ำเป็น แต่ยังขาดทักษะการช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องเมื่อพบการจมน้ำ ข้อมูลจากการเฝ้าระวังของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ในรอบ 10 ปี ระหว่าง ปี 2549-2558 มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำ 10,923 คน เฉลี่ยปีละเกือบ 1,100 คน พบมากสุดในแหล่งน้ำธรรมชาติร้อยละ 41.6 เฉพาะเดือนมีนาคม-พฤษภาคมพบเสียชีวิตสูงสุดเฉลี่ยปีละ 372 คน
สำหรับในปี 2559 จากการเฝ้าระวังข่าวและสถานการณ์เด็กจมน้ำ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 24 มีนาคม พบเด็กจมน้ำ 54 เหตุการณ์ เสียชีวิต 55 ราย บาดเจ็บ 26 ราย โดยช่วงปิดเทอมตั้งแต่ 1 - 24 มีนาคม มีเด็กจมน้ำถึง 22 เหตุการณ์ เสียชีวิต 21 ราย บาดเจ็บ 16 ราย เกือบทั้งหมดเป็นเด็กวัยเรียน ช่วงอายุ 5 –13 ปี ซึ่งสถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่ คือ คลอง หนองน้ำ รองลงมา คือ ทะเล สาเหตุเกิดจากเด็กไปเล่นน้ำเป็นกลุ่ม โดยไม่มีผู้ใหญ่คอยดูแล ซึ่งเด็กยังขาดความรู้เรื่องกฎความปลอดภัยทางน้ำ ขาดทักษะการช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง ทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บพร้อมกันครั้งละหลายคน
การจมน้ำเป็นเรื่องที่ช่วยกันป้องกันได้ ขอให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น ช่วยกันดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำ ติดป้ายคำเตือน จัดหาอุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำ เช่นแกลลอน นกหวีด ไม้ยาว และขอให้ผู้ปกครองดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิดดังนี้
1.ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ “เทน้ำ กั้นคอก ปิดฝา เฝ้าดูตลลอดเวลา” เทน้ำทิ้งทุกครั้งหลังใช้งาน กั้นคอกเพื่อกำหนดพื้นที่เล่นที่ปลอดภัย ปิดฝาภาชนะใส่น้ำเช่น กะละมัง โอ่งน้ำ ตุ่มน้ำ และเฝ้าดูตลอดเวลาไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังแม้เพียงชั่วขณะ
2.เด็กโตอายุมากกว่า 5 ปี สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ “ลอยตัว ชูชีพ ช่วยเหลือ ปฐมพยาบาล” ลอยตัว สอนให้เด็กรู้วิธีการเอาชีวิตรอด โดยการลอยตัวเปล่าหรือลอยตัวโดยใช้อุปกรณ์ช่วย ชูชีพ สอนกฎความปลอดภัยทางน้ำและใส่ชูชีพทุกครั้งที่เดินทางทางน้ำ ช่วยเหลือ สอนวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้องด้วยการ ตะโกน โยน ยื่น ไม่กระโดดลงน้ำไปช่วย และปฐมพยาบาล สอนวิธีการปฐมพยาบาลคนจมน้ำที่ถูกต้อง โดยห้ามอุ้มพาดบ่าหรือกระแทกท้องเพื่อเอาน้ำออก
ทั้งนี้ อันตรายของเด็กช่วงปิดเทอมนอกจากการจมน้ำแล้ว ยังมีการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การเล่นสวนน้ำ/สวนสนุก การใช้บันไดเลื่อน กรณีรถทับเด็ก และทิ้งเด็กไว้ในรถ รวมทั้งการบาดเจ็บจากการจราจร จึงควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เช่น อย่าทิ้งเด็กหรือลืมเด็กไว้ในรถ เพราะเพียง 30 นาที เด็กก็เสียชีวิตได้ ก่อนออกรถควรสำรวจทุกครั้งว่าไม่มีเด็กอยู่ใกล้รถ ให้เด็กสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ซ้อนท้ายจักรยานยนต์ และหากต้องใช้บันไดเลื่อน ผู้ปกครองควรจับมือเด็กไว้ตลอดเวลา
ข่าวเด่น