ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สบส. เผยพ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พร้อมใช้ ก.ย.นี้


 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559  ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมือ 31 มี.ค.2559 กำหนดให้กิจการประเภทสปา นวดเพื่อสุขภาพ หรือเพื่อเสริมความงาม และกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง  ต้องได้รับใบอนุญาตจากกรม สบส.

 

ในอนาคตจะคลุมธุรกิจเนิร์สซิ่งโฮม ฟิตเนส และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ด้วย ห้ามโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณรักษา ป้องกันโรค หรือส่อในทางลามกอนาจาร ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก-ปรับ-เพิกถอนใบอนุญาต ขณะนี้อนุโลมให้สถานประกอบการที่ผ่านการรับรองมาแล้วกว่า 1,600 แห่งดำเนินการต่อไปได้ ส่วนรายใหม่ให้เตรียมความพร้อมขออนุญาต ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง คาดกฎหมายฉบับนี้จะให้ความเชื่อมั่นคุณภาพสูงขึ้น


 

วันนี้ (5  เมษายน 2559) ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.)กระทรวงสาธารณสุข นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมด้วยนายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล  ผู้อำนวยการกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และนายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย แถลงข่าวว่า ขณะนี้พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ได้ประกาศเป็นกฎหมายลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2559  หลังจากใช้เวลาผลักดันมา 5 ปี  โดยจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน คือวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2559 สาระกฎหมายมีทั้งหมด 7 หมวด และบทเฉพาะกาลรวม 49 มาตรา มั่นใจว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้สถานประกอบการเพื่อสุขภาพของไทย มีมาตรฐานและความปลอดภัย ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้รับบริการทั้งคนไทยและต่างชาติ ว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพจริง  ไม่ถูกมองว่าแอบแฝงบริการทางเพศ สามารถสร้างงานและรายได้ให้ประเทศเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งขณะนี้ธุรกิจของไทยโด่งดังทั่วโลก มีอัตราขยายตัวร้อยละ 15 ต่อปี     

          กฎหมายดังกล่าว มีผลควบคุมสถานประกอบการเพื่อสุขภาพได้แก่ 1.กิจการสปาซึ่งให้การดูแลเสริมสร้างสุขภาพโดยใช้น้ำบำบัด นวดร่างกายเป็นหลัก และมีบริการอื่นเสริมอย่างน้อย 3 อย่าง ที่กำหนดในกิจการสปา เช่น การให้บริการด้วยความร้อน อาทิ ประคบหินร้อน อบซาวน่า (Sauna), การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ อาทิ แอโรบิค ฟิตเนส ฟิตบอล
ไทเก๊ก, โยคะ, ฤาษีดัดตน, การทำสมาธิ อาทิ นั่งสมาธิ ชี่กง เรกิ 2.กิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม เช่น นวดหน้า พอกหน้า ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้สามารถที่กำหนดเป็นกฎกระทรวงในภายหลัง เพื่อใช้บังคับกำกับกิจการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ไม่ใช่การรักษาพยาบาล เช่น เนิร์สซิ่งโฮมดูแลผู้สูงอายุ และฟิตเนส ด้วย

ทั้งนี้ผู้ดำเนินการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ต้องขอรับใบอนุญาตซึ่งมีอายุ 5 ปี จากกรมสบส. ส่วนผู้ให้บริการ ต้องขึ้นทะเบียน ได้รับใบรับรองคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษาที่กรมสบส.รับรอง ซึ่งขณะนี้มีกว่า 588 แห่งทั่วประเทศ ผู้ได้รับอนุญาตต้องติดใบอนุญาต และตราสัญลักษณ์ “มาตรฐาน สบส” ที่สถานประกอบการในที่เปิดเผยเห็นง่าย  ผู้ดำเนินการต้องอยู่ประจำตลอดเวลาทำการ  ทุกแห่งต้องมีคู่มือปฏิบัติงานให้บริการ การใช้เครื่องมือให้ได้มาตรฐานสะอาด ปลอดภัย

มีระบบสอบถามและบันทึกข้อมูลสุขภาพพื้นฐาน และคัดกรองผู้รับบริการ เพื่อจัดบริการที่เหมาะสมแก่สุขภาพของผู้รับบริการ และควบคุมไม่ให้ผู้ให้บริการออกไปให้บริการข้างนอกสถานประกอบการในเวลาทำงาน มีมาตรการรักษาความปลอดภัย ป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ สำหรับการโฆษณาสามารถกระทำได้ตามลักษณะการให้บริการ แต่ห้ามโอ้อวดสรรพคุณอุปกรณ์ บริการ ผลิตภัณฑ์ เครื่องมือ และเครื่องใช้ต่างๆเกินจริงว่าสามารถบำบัด รักษาหรือป้องกันโรคได้ ห้ามโฆษณาที่ส่อในทางลามกอนาจาร หากฝ่าฝืน เช่น แอบอ้างใช้ชื่อว่าเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ มีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท ลักลอบเปิดสถานประกอบการเพื่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนใบอนุญาต เป็นต้น 

สำหรับในช่วงระยะ 180 วัน ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้กรม สบส. ได้เตรียมความพร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ 1 ชุด เพื่อกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ให้เป็นไปตามกฎหมายและแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามกฎหมายทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค นอกจากนี้จะประชุมชี้แจงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความเข้าใจกฎหมาย และปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันทั่วประเทศ  

นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล  ผู้อำนวยการกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กล่าวต่อว่า ในส่วนของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายใหม่ทุกประเภท ซึ่งคาดว่าจะมีหลายหมื่นแห่งทั่วประเทศ  ขอให้เตรียมความพร้อมยื่นขอใบอนุญาตประกอบการที่กรมสบส. และต้องผ่านการตรวจอนุญาตจากกรม สบส. ส่วนสถานประกอบการฯที่ได้รับใบอนุญาตมาก่อนหน้านี้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 ที่ออกตามพ.ร.บ.สถานบริการ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2509 จำนวน 1,609 แห่ง อยู่ในกทม. 344 แห่งที่เหลืออยู่ในภูมิภาค ประกอบด้วยสปา 509 แห่ง นวด 1,070 แห่ง และเสริมสวย 30 แห่ง  อนุโลมให้ดำเนินการต่อไปได้และให้ยื่นขออนุญาตตามขั้นตอนกฎหมายใหม่ภายใน 180 วันหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้  
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 เม.ย. 2559 เวลา : 14:37:59

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:16 am