ในขณะที่มีผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกหรือศูนย์การค้าจำนวนมากที่เปิดการขายสินค้าทางออนไลน์จนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่พบว่า เริ่มมีผู้ประกอบการที่เคยจำหน่ายสินค้าออนไลน์ช่องทางเดียวที่หันมาเปิดหน้าร้านวางจำหน่ายสินค้าควบคู่ไปด้วย ตามการสังเกตการณ์จากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล (โจนส์ แลง ลาซาลล์)
นาวีน แจกกี ประธานบริหารหน่วยธุรกิจตัวแทนให้เช่า-ซื้อขายพื้นที่การค้าของเจแอลแอลภาคพื้นอเมริกา กล่าวว่า “ปัจจุบัน การผสมผสานการค้ารูปแบบเดิมและการค้าออนไลน์กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการค้าปลีกประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นกรณีของผู้ประกอบการค้าออนไลน์ที่ต้องเปิดหน้าร้านวางสินค้า หรือศูนย์การค้าที่ต้องขยายการขายสินค้าไปบนโลกออนไลน์”
กระแสการหันมาเปิดร้านค้าหรือศูนย์การค้าของผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจการจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ เริ่มปรากฏให้เห็นทั่วโลก ตัวอย่างผู้ประกอบการรายใหญ่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ Clearly Contacts ผู้จำหน่ายสินค้าคอนแทคเลนส์และสินค้าที่เกี่ยวข้องของแคนาดา
ส่วนในสหรัฐฯ ได้แก่ Spud ซึ่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์การเกษตรปลอดสาร, Warby Parker จำหน่ายสินค้าชุดชั้นใน และ Bonobos จำหน่ายสินค้าด้านแฟชั่น ส่วนตัวอย่างผู้ประกอบการของอังกฤษ ได้แก่ The White Company ซึ่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องนอน ผู้ประกอบการธุรกิจจำหน่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์รายใหญ่เหล่านี้ล้วนกำลังอยู่ในระหว่างการสร้างหรือเช่าพื้นที่สำหรับเปิดหน้าร้านวางจำหน่ายสินค้าเพิ่มเติมจากการขายสินค้าผ่านทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว
“ในทางกลับกัน มีผู้ประกอบการร้านค้าปลีกหรือศูนย์การค้าบางราย ที่พยายามพัฒนาการค้าบนโลกออนไลน์ขึ้นเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ต่อเนื่องทั้งจากร้านค้ารูปแบบเดิมและร้านค้าบนโลกออนไลน์ของตน” นายแจกกีกล่าว
Nordstrom และ Macys ซึ่งมีศูนย์การค้าหลายสาขาในสหรัฐอเมริกา ได้ใช้นโยบาย “คืนสินค้าได้ทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข” โดยไม่ว่าลูกค้าจะซื้อสินค้าจากห้างหรือทางเว็บไซต์ของห้าง หากไม่พอใจสามารถคืนหรือเปลี่ยนสินค้าได้ที่สาขาของห้างสาขาใดก็ได้ หมายความว่า ผู้ที่ซื้อสินค้าของห้างทางออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องยุ่งยากในการส่งคืนสินค้าผ่านทางไปรษณีย์หรือบริษัทรับส่งพัสดุ
สำหรับในประเทศไทย พบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกและศูนย์การค้ารายใหญ่แทบทุกรายมีการเปิดจำหน่ายสินค้าออนไลน์ อาทิ กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มเดอะมอลล์ บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส และแม็คโคร เป็นต้น ในขณะที่แนวโน้มที่ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าออนไลน์เปิดร้านวางจำหน่ายสินค้าควบคู่ไปด้วย มีปรากฏให้เห็นเช่นกัน โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้า SME ที่แรกเริ่มผู้ประกอบการเสนอขายเฉพาะบนเว็บไซต์ แต่เริ่มมีการเปิดร้านวางจำหน่ายสินค้าด้วยในภายหลัง
เจมส์ บราวน์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยธุรกิจศูนย์การค้าภาคพื้นยุโรปของเจแอลแอล กล่าวว่า “ในความเป็นจริง มีผู้ประกอบการค้าปลีกน้อยมากที่จะไม่พึงพาการขายผ่านทางออนไลน์ แต่ในขณะเดียวกัน การเสนอขายสินค้าผ่านทางออนไลน์เองก็มีข้อจำกัด การเจาะให้ถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอาจต้องใช้ต้นทุนสูง การกระจายสินค้าก็มีต้นทุนด้วยเช่นกัน และการควบคุมสินค้าคงคลังก็มีความท้าทาย ดังนั้น ผู้ประกอบการค้ารูปแบบเดิมมองว่าการจำหน่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์เป็นเรื่องจำเป็น ในขณะเดียวกันกับที่ผู้ประกอบการค้าออนไลน์ก็เล็งเห็นความจำเป็นในการมีร้านค้าเพื่อช่วยเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์สินค้าที่จำหน่ายและเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้า”
“มีความชัดเจนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า การเปิดหน้าร้านจำหน่ายสินค้าควบคู่ไปกับการจำหน่ายสินค้าบนโลกออนไลน์ มีความเกื้อหนุนซึ่งกันและกันในการช่วยเพิ่มยอดขาย”
“การผสมผสานการจำหน่ายสินค้าหน้าร้านและการจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์เพื่อสร้างประสบการณ์ความต่อเนื่องของลูกค้า เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมีความคาดหวังมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นแนวโน้มที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต ตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นพิสูจน์ให้เห็นว่า กลยุทธ์ดังกล่าวสามารถช่วยเพิ่มยอดขายให้กับผู้ประกอบการได้จริง” นายบราวน์กล่าวสรุป
ข่าวเด่น