ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เตรียมเสริม'ทีมพ่นยุง'เพิ่ม 2 เท่า ก่อนฤดูระบาดของโรคไข้เลือดออกปีนี้


 

นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมปรึกษาหารือกับนายกฤษฎา  บุญราช  ปลัดกระทรวงมหาดไทย  เพื่อหาแนวทางและมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออก ทั้งในส่วนภูมิภาคและในกรุงเทพมหานคร รวมถึงการเพิ่มทีมพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายในทุกจังหวัด ก่อนฤดูระบาดของโรคไข้เลือดออก

 

 

        
 โรคไข้เลือดออกในปีที่ผ่านมา(ปี 2558) มีผู้ป่วยถึง 142,925 ราย เสียชีวิต 141 ราย  ส่วนในปี 2559 จากข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 28 มี.ค. 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 13,411 ราย เสียชีวิต 8 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ระยอง กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร นครปฐม และภูเก็ต  
 
 
ในปีนี้ กรมควบคุมโรค คาดการณ์จากการพยากรณ์โรคว่า จะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอีกและอาจมากกว่า 166,000 ราย จากภาวะโลกร้อนทำให้วงจรการเกิดยุงเร็วขึ้นและเพิ่มจำนวนได้มากขึ้น โรคที่เกิดจากยุงลายพาหะ จึงมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น เช่น ไข้ปวดข้อยุงลาย โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เป็นต้น โดยเฉพาะในหน่วยงานระดับท้องถิ่นและชุมชน ต้องร่วมมือและเร่งรัดกำจัดกวาดล้างยุงลายพาหะนำโรคเพื่อป้องกันโรคอย่างเข้มข้นจริงจัง
         
 
 นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ซึ่งประกอบด้วย 8 หน่วยงานระดับกระทรวง ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกรุงเทพมหานคร ที่มีเจตจำนงจะพัฒนาผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
      
 
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมปรึกษาหารือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อหาแนวทางและมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออก รวมถึงการเพิ่มทีมพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายในทุกจังหวัด ที่เดิมมีประมาณ 8,000 ทีมอยู่แล้ว โดยขอเพิ่มให้มีมากกว่า 17,000 ทีม  


ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือ ดังนี้ 1.สนับสนุนทีมพ่นกำจัดยุงลาย ในสัดส่วน อบต. และเทศบาลตำบล อย่างน้อย 2 ทีมต่อแห่ง เทศบาลเมืองอย่างน้อย 5 ทีมต่อแห่ง และเทศบาลนคร อย่างน้อย 10 ทีมต่อแห่ง (เขตปกครองพิเศษ กรุงเทพมหานคร อย่างน้อย 5 ทีมต่อเขต และเมืองพัทยา อย่างน้อย 10 ทีม)  
 
2.ขอ อบจ. สนับสนุนการจัดอบรมทีมพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย ในแต่ละจังหวัดให้ได้มาตรฐาน ช่วงก่อนการเข้าฤดูการระบาด โดยกรมควบคุมโรคจะร่วมสนับสนุนวิทยากร สื่อ/อุปกรณ์การอบรม  3.ขอให้ อปท. ทุกระดับจัดหาอุปกรณ์ในการพ่นสารเคมีที่ได้มาตรฐานข้อกำหนดของกรมควบคุมโรค และสารเคมีให้เพียงพอกับการควบคุมยุงพาหะที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบ เพื่อเตรียมความพร้อมใช้ในฤดูการระบาดของโรค ในฤดูฝนช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป และ
 
 
4.ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นประธานกรรมการควบคุมโรคจังหวัด ตาม พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 สนับสนุนการผลักดันเรื่องมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรณรงค์ “ประชารัฐร่วมใจ พิชิตลูกน้ำยุงลาย 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”  
          
“ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออกสามารถพบได้ทุกกลุ่มวัยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อาการคือ มีไข้สูงและมักสูงลอยประมาณ 2-7 วัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตัว เบื่ออาหาร ปวดจุกแน่นท้อง อาจมีเลือดกำเดา มีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง อาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น  วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ ไม่ให้ยุงลายกัด สวมเสื้อผ้ามิดชิดป้องกันยุงกัด การนอนในมุ้ง ทายากันยุง หรือใช้สมุนไพรไล่ยุง ที่สำคัญขอให้เน้นมาตรการ 3เก็บ ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2.เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ 3.เก็บน้ำปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนบ่อยๆ ไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
 
                
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 เม.ย. 2559 เวลา : 07:32:55

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 4:04 am