นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มุ่งเน้นเสริมสร้างให้คนพิการ มีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสริมสร้างให้คนพิการมีงานทำโดยใช้กลไก “ประชารัฐ” ทั้งทำงานในสถานประกอบการ หน่วยงานรัฐ ตลอดจนการให้สัมปทาน การจัดสถานที่ให้จำหน่ายสินค้า เป็นต้น ทั้งนี้จากการรายงานของกรมการจัดหางานในช่วง 6 เดือนแรก ปีงบประมาณ 2559 (ต.ค.58 – มี.ค.59)
พบว่า มีคนพิการได้รับการบรรจุงานทำงานในสถานประกอบการ ผ่านการใช้บริการของกระทรวงแรงงาน จำนวน 1,130 คนจากตำแหน่งงานว่างที่มีอยู่ 1,178 อัตรา ซึ่งสามารถบรรจุได้คิดเป็นอัตราร้อยละ 97 ของตำแหน่งงานว่าง นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำในด้านอื่น ๆ อีก 6,157 คน โดยมีสถานประกอบการ 845 แห่ง หน่วยงานรัฐ 15 แห่ง ให้การสนับสนุน แยกเป็น การให้สัมปทาน 410 คน/ การจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ 3,961 คน/ จัดจ้างเหมาช่วงงาน /จ้างเหมาบริการ 295 คน/ ฝึกงาน 1,090 คน/ ล่ามภาษามือ 1 คน และการให้ความช่วยเหลือด้านอื่นอีก 400 คน อาทิ สร้างโรงเพาะชำให้กลุ่มคนพิการปลูกพืชผักหรือสร้างอาคารร้านค้าให้กลุ่มคนพิการจำหน่ายสินค้า เป็นต้น
นายธีรพลฯ กล่าวต่อไปว่า สำหรับสิทธิประโยชน์ของสถานประกอบการในการจ้างงานคนพิการ คือ ได้รับการ ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่นายจ้าง/สถานประกอบการ/ยกเว้นภาษีเงินได้ร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่าย ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายปกติจะหักได้ 2 เท่า/ซึ่งสิทธิประโยชน์นี้เฉพาะการจ้างลูกจ้างที่มีบัตรประจำตัวคนพิการเท่านั้น และกรณีมีการจ้างคนพิการมากกว่า 60% ของลูกจ้างในสถานประกอบการจะสามารถหักค่าจ้างเป็น 3 เท่าด้วย ตัวอย่างกรณีนี้ (จ้างคนพิการ60%) กล่าวคือ นายจ้างสามารถนำค่าจ้างคนพิการมาหักเป็นรายจ่ายเพิ่มได้ถึง 3 เท่าของที่จ่ายเป็นค่าจ้างคนพิการ เช่น ค่าจ้าง 1 ปีจ่ายจริง 100,000 บาท สามารถถือเป็นรายจ่ายได้ถึง 300,000 บาท นายจ้างเสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 ย่อมหมายความว่ารัฐบาลได้ช่วยออกค่าจ้างในรูปแบบภาษีร้อยละ 30 คิดเป็น 200,000 x 30/100 = 60,000 บาท แสดงว่านายจ้างจ่ายจริงเพียง 40,000 บาท ต่อคนเท่านั้น
สถานประกอบการต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือคนพิการจะสมัครงานหรือใช้บริการติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 หรือ โทร.1694
ข่าวเด่น