นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(ยูเออี)ว่า เป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับบริษัทเครื่องสำอาง เพราะยูเออีเป็นตลาดใหญ่ในโลกความงาม ประชากรมีความหลากหลาย และสามารถกระจายสินค้าไปยังประเทศตะวันออกกลางหลายประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ฮาลาล ซึ่งผู้ผลิตบางรายใช้เป็นทางธุรกิจ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้มุสลิม
ทั้งนี้พฤติกรรมการซื้อเครื่องสำอางของผู้หญิง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักมีแนวโน้มเปลี่ยนไป โดย รายได้ที่ลดลงจากราคาน้ำมันที่ถูก ทำให้ผู้หญิงส่วนมากหันไปเลือกซื้อเครื่องสำอางระดับล่าง ที่มีราคาถูกกว่า แต่ไม่ตัดค่าใช้จ่ายในการเลิกซื้อเครื่องสำอาง ยังคงเลือกซื้อเครื่องสำอางที่มีคุณภาพดี ในราคาที่เหมาะสม เพราะเห็นว่าการใช้เครื่องสำอางและมีรสนิยมแต่งหน้าเข้มเป็นสิ่งจำเป็น โดยช่องทางจำหน่ายยังเป็นห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และร้านจำหน่ายของใช้ในบ้าน (Discount Store)
สินค้าไทยที่มีแนวโน้มเจาะตลาดยูเออีได้มากขึ้น คือ เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสมุนไพร เนื่องจากมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างจากสินค้าของประเทศอื่นๆ เพราะนอกจากเครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้าแล้ว เครื่องสำอางสปาและสมุนไพร หรือ ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาตินั้น ได้รับความนิยมในประเทศนี้เช่นกัน โดยผลิตภัณฑ์ต้องคำนึงถึงคุณลักษณะตอบสนองความต้องการในด้านอื่นด้วย เช่น ป้องกันรังสีจากแสงแดด มลภาวะ เซลลูไลท์ และชะลอวัย
“สินค้าจากไทยจะต้องมีการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้นเพราะจะต้องแข่งขันกับสินค้าจากประเทศยุโรป หรือ เอเซียอื่นๆ โดยจะต้องปรับปรุงรูปแบบ กลิ่น สี ให้เหมาะสมกับความนิยมของตลาดอยู่ตลอดเวลา เน้นรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม ตั้งราคาให้เหมาะสม เพื่อแข่งขันกับสินค้าระดับเดียวกันได้ เพื่อให้ผู้นำเข้าสามารถนำไปใช้จำหน่ายและใช้เป็นสินค้าส่งออกต่อได้ต่อไป”อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าว
นอกจากนี้จากรายงานการศึกษาตลาดพบว่า เฉพาะในยูเออีคาดว่าภายในในปี 2561 มูลค่าจะขยายตัวถึง 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดค้าปลีกเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคลในปี 2559 จะขยายตัวราวร้อยละ 4.8 ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าที่มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างมาก เมื่อเทียบกับการเติบโตทั่วไปเฉลี่ย สินค้าที่นิยม อาทิ น้ำหอม ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม สบู่ เครื่องสำอาง น้ำหอมดับกลิ่นกาย แชมพู และผลิตภัณฑ์บำรุงผม ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว โดยปัจจุบันเครื่องสำอางผู้ชาย (Men’s Grooming products) ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า มีการซื้อหามากขึ้น เช่น สบู่ล้างหน้า ครีมโกนหนวด น้ำหอมดับกลิ่นกาย เป็นต้น
ส่วนการใช้จ่ายของประเทศอื่นๆ ในประเทศแถบตะวันออกกลาง อาทิ ซาอุดิอาระเบียใช้จ่ายรวมมูลค่า 4,900 ล้านเหรียญสหรัฐ อิหร่านใช้จ่ายมูลค่า 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอียิปต์ใช้มูลค่า 1,000ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกฎระเบียบนำเข้าเหมือนกับกลุ่มประเทศจีซีซีนั้น ต้องใช้วัตถุดิบที่ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ รวมทั้งสารประกอบที่ใช้เป็นส่วนผสมของการผลิต ตลอดจนสารเคมี หรือ สารสกัดจากธรรมชาติ
ข่าวเด่น