ก.แรงงาน รับข้อเรียกร้องเครือข่าย คปค. - ฟ.ฟันสร้างสุขและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ให้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทันตกรรมไม่ต้องสำรองจ่าย รับบริการตามความเป็นจริง ด้าน “รองปลัดแรงงานฯ” เผย ‘รัฐมนตรี’ ให้นโยบาย “ทุกข้อแนะนำ ทุกคำร้อง ทุกเรื่องที่มาถึงกระทรวงแรงงานเป็นเรื่องที่ต้องรับฟัง รับมาดูแล ปรับปรุงแก้ไข บนพื้นฐานของเหตุผล”
นายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงาน รับหนังสือจากตัวแทนเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เครือข่าย ฟ.ฟัน สร้างสุขและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ พร้อมรับรายชื่อกว่า 1 หมื่นรายชื่อ เรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปฏิรูปสิทธิประโยชน์ประกันสังคมกรณีทันตกรรม
รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังรับหนังสือจากตัวแทนเครือข่ายฯ ว่า การที่ คปค. และเครือข่ายมีข้อเสนอเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมนับเป็นเรื่องที่ดีเพราะถือเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตน ทั้งนี้ จะนำหนังสือข้อเรียกร้องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเสนอต่อหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมนำเรียน พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รวมทั้งแจ้งไปยัง สปส. เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ในวันที่ 12 เมษายน 2559 ต่อไป
“ทั้งนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของรัฐมนตรีที่มีมาโดยตลอด คือ สิทธิอะไรที่มีความต่างกัน ควรทบทวนให้ใกล้เคียงกันไปในแนวเดียวกัน โดยให้พิจารณาข้อจำกัดหรือปัญหาว่าอยู่ตรงไหน ถ้าแก้ไขได้ก็ต้องแก้หรือปรับกันไป ฉะนั้น ตามนโยบายของรัฐบาลนี้มั่นใจได้ว่าความต่างที่มีอยู่ต้องได้รับการแก้ไข ดังที่ตัวแทนท่านหนึ่งกล่าวว่าอย่าแยกฟันที่เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายออกไปจากตัวคน ฉะนั้น เจ็บป่วยตรงไหนก็แล้วแต่ในตัวคนก็น่าจะใช้สิทธิได้ ซึ่งพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้เป็นนโยบายแก่ข้าราชการกระทรวงแรงงานว่า ทุกข้อแนะนำ ทุกคำร้อง ทุกเรื่องที่มาถึงกระทรวงแรงงานเป็นเรื่องที่ต้องรับฟัง และรับมาดูแล ปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปได้ อยู่บนพื้นฐานของเหตุผล” รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า คปค. และเครือข่ายมีข้อเสนอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมให้เท่าเทียมกับระบบหลักประกันสุขภาพอื่นใน 3 ประเด็น คือ 1) การถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนและผ่าตัดฟันคุด ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับบริการตามความเป็นจริงโดยไม่ต้องสำรองจ่าย 2) ฟันเทียมชนิดถอดได้เป็นฐานพลาสติกบนและหรือล่างได้ตามความเป็นจริงโดยไม่ต้องสำรองจ่าย และ 3) เพิ่มการตรวจสุขภาพทางช่องปากประจำปี ทั้งในคลินิก โรงพยาบาลรัฐและเอกชน หรือเป็นหน่วยบริการเคลื่อนที่ นอกจากนี้ ขอให้มีการตั้งคณะทำงานปฏิรูปสิทธิประโยชน์ประกันสังคมกรณีทันตกรรมโดยมีตัวแทน สปส. คปค. และเครือข่ายร่วมเป็นคณะทำงานด้วย
“เชื่อว่า สปส. สามารถเพิ่มสิทธิกรณีทันตกรรมได้ ซึ่งปัจจุบัน สปส. มีเงินสะสมใน 4 กองทุน ทั้งเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร รวมกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถเจียดเงินจาก 4 กองทุนบางส่วนมาตั้งเป็นกองทุนสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมและสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับช่องปากได้ เพื่อเป็นของขวัญในวันแรงงาน 1 พฤษภาคมนี้” ประธานเครือข่าย คปค. กล่าวในท้ายที่สุด
ข่าวเด่น