วันนี้(8 เม.ย. 59) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รมช.กลาโหม ชี้แจงว่า สถานการณ์ความมั่นคงและแนวโน้มภัยคุกคามต่อความมั่นคงในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยมีความเชื่อมโยงกับมิติด้านต่างๆ และมีความรุนแรงและสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยที่กลไกความมั่นคงที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502 ยังไม่เอื้อต่อการปฏิบัติภารกิจ และการบริหารนโยบาย ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงให้ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งติดตาม ประเมิน วิเคราะห์ แจ้งเตือนสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคาม หรือประกาศสถานการณ์ภัยคุกคาม จึงต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้
สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ได้เพิ่มเติมให้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา พร้อมเสนอแนะการจัดยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง เสนอต่อคณะรัฐมนตรี รวมถึงให้สภาความมั่นคงกำกับติดตามแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงด้วย
นอกจากนี้ หากมีสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง ให้สภาความมั่นคงเสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี แต่หากคณะรัฐมนตรีไม่มีการพิจารณาดำเนินการใดๆ ให้สภาความมั่นคงมีสิทธิสั่งหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 15 คน มีกรอบการทำงาน 60 วัน และแปรญัตติภายใน 15 วัน
ภายหลังอภิปรายเสร็จสิ้นที่ประชุมฯได้มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้พิจารณา ด้วยคะแนน 153 ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณา 15 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน ระยะเวลาดำเนินงาน 60 วัน
ข่าวเด่น