นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เดินทางเยือนกัมพูชาตามคำเชิญของนายอิธ ซัมเฮงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและฝึกอบรมวิชาชีพ แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ระหว่าง 6 -7 เมษายน2559 ที่ผ่านมา เพื่อประชุมทวิภาคีระดับรัฐมนตรีและติดตามความคืบหน้าการดำเนินการจากบันทึกการหารือระดับวิชาการ กัมพูชา-ไทย ณ เมืองเสียมเรียบ ระหว่างวันที่ 24-25 มี.ค. ที่ผ่านมา
โดยมีข้อสรุปร่วมกันที่สำคัญหลายประการ อาทิ พัฒนาข้อมูลความต้องการแรงงานกัมพูชาโดยใช้ระบบ Online เพื่อการเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมแรงงานกัมพูชาที่ต้องการทำงานในไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือเพิ่มเติมเพื่อให้บรรลุผลในการแก้ปัญหาแรงงานในกลุ่ม CLMV และจะใช้เป็นต้นแบบในกลุ่ม รวมทั้งจะให้เป็น Model ของอาเซียนด้วย โดยจะเน้นร่วมมือกันในระดับรัฐบาลกับรัฐบาลเพื่อดำเนินกระบวนการนำแรงงานกัมพูชาที่ผิดกฎหมายเข้าสู่สถานะที่ถูกต้องโดยไม่ให้หน่วยงานเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการนี้ ทั้งนี้ กัมพูชาจะตั้งทีมเพื่อดำเนินการตรวจสอบและจัดทำเอกสารทางกฎหมาย (Cambodian Legalization Committee) ให้กับแรงงานเพื่อปรับสถานะให้แรงงานทุกคนมีเอกสารประจำตัว
โดยกัมพูชาขอบคุณไทยที่ยินดีแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนบุคคลที่บรรจุในบัตรสีชมพู ซึ่งเมื่อกระบวนการจัดทำเอกสารประจำตัวแรงงานแล้วเสร็จ กระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางานจะช่วยเหลือฝ่ายกัมพูชาในการแจกจ่ายเอกสารให้ถึงมือแรงงานกัมพูชา ซึ่งในแต่ละพื้นที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศจะมีบทบาทสำคัญในการประสานนายจ้างเพื่อให้ความร่วมมือ ซึ่งกระบวนการจัดทำเอกสารประจำตัวนี้ ฝ่ายกัมพูชาได้เริ่มดำเนินการแล้ว และจะเริ่มส่งเอกสารถึงมือแรงงานกัมพูชาได้ในเดือนสิงหาคม และขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แต่ละประเด็นที่ยังต้องใช้เวลาในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับการประสาน ผลักดันให้สำเร็จภายในสองเดือนนี้
ประเด็นสำคัญ กัมพูชาจะจัดฝึกอบรมแรงงานกัมพูชาทุกคนก่อนการเดินทางเข้ามาทำงานในไทย ตลอดจนจะหาแนวทางร่วมกันเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาลบริเวณชายแดน มากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานในกลุ่มนี้มาทำงานในประเทศไทยใน 5 จังหวัดชายแดน (ศรีสะเกษ, สุรินทร์, สระแก้ว, จันทบุรี และตราด) รวม 14,349 คน
นายธีรพลฯ กล่าวต่อไปว่า ในการหารือครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ณ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานไทย-กัมพูชา ที่ปูนพนม ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงพนมเปญประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นศูนย์ฯ ที่กระทรวงแรงงานและกระทรวงการต่างประเทศร่วมกันช่วยเหลือแรงงานกัมพูชา โดยดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 2539 และได้หยุดชะงักไประยะหนึ่ง ตอนนี้จะได้เริ่มดำเนินการใหม่ โดยกำลังปรับปรุงและก่อสร้างอาคารฝึกอบรมฯ ที่พัก และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ คาดว่าอีก 3-4 เดือน น่าจะแล้วเสร็จ และเริ่มฝึกอบรมได้
จากการประสานในขั้นต้น ฝ่ายกัมพูชาขอให้ไทยไปฝึกอบรมและกำหนดมาตรฐานงานช่างสาขาปูนและการก่ออิฐ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานพิจารณาร่วมกับฝ่ายกัมพูชาเพิ่มเติมว่ายังมีสาขาช่างอื่น ๆ อีกหรือไม่ ที่จะสามารถยกระดับฝีมือแรงงานช่างกัมพูชาได้ โดยฝ่ายไทยพร้อมที่จะสนับสนุนทางด้านวิชาการให้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาฝ่ายไทยได้ให้ทุนฝึกอบรมและส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วยเหลือ 48 คน มูลค่ารวมประมาณ 75 ล้านบาท) และจากการเยือนครั้งนี้นับว่าประสบผลสำเร็จทุกประการเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย
ข่าวเด่น