นายกฯ ปลื้ม คนไทยอ่านมากขึ้น 66 นาทีต่อวัน ชี้การอ่านทำให้คนรอบรู้และฉลาดขึ้น แต่ต้องมีวิจารณญาน พร้อมปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่ในครรภ์ อุดช่องว่างการรู้หนังสือ และเพิ่มพื้นที่สาระดีผ่านโทรทัศน์
พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบสถิติการอ่านของคนไทย จากการแถลงข่าวนำเสนอผลสำรวจการอ่านของประชากรคนไทย พ.ศ.2558 โดย สนง.สถิติแห่งชาติและ สนง.อุทยานการเรียนรู้ (ทีเอ พาร์ค) และรู้สึกยินดีที่คนไทยให้ความสำคัญกับการอ่านมากขึ้น โดยมีเวลาการอ่านเฉลี่ย 66 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 56 ที่อ่านเพียง 37 นาทีต่อวัน
“ท่านนายกฯ ปรารภว่า การอ่านทำให้คนรอบรู้และฉลาดขึ้น หลายคนรู้จักใช้ประโยชน์จากการอ่านในการสร้างอาชีพจนมีฐานะร่ำรวย แม้จะไม่ได้รับการศึกษาที่สูงนัก โดยในปัจจุบันนี้การอ่านไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในหนังสืออย่างเดียวแล้ว แต่ยังมีสื่อประเภทอื่น เช่น สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ อีเมล์ ฯลฯ ที่คนนิยมใช้มากขึ้น เพื่ออ่านข้อมูลที่มีสาระ ไม่นับรวมข้อความการสนทนาหรือติดต่อสื่อสาร และต้องอ่านอย่างมีวิจารณญาน รู้จักสืบค้นข้อมูลจากรอบด้าน เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดหรือถูกชักจูง”
พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า โดยปกตินายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่รักการอ่านมาก ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน ทุกวันนี้ท่านจะอ่านหนังสือพิมพ์วันละหลายฉบับ รวมถึงหนังสือที่ส่วนราชการต่าง ๆ เสนอขึ้นมา รวมทั้งยังติดตามข่าวสารและสาระที่มีประโยชน์จากเว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์อีกหลายประเภท
ดังนั้น จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าการอ่านของคนไทยปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี มีเวลาการอ่านนานขึ้น เป็น 34 นาทีต่อวัน จากเมื่อก่อน 27 นาที ขณะที่วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่ชอบอ่านมากที่สุดถึง 94 นาทีต่อวัน รองลงมาคือ วัยเด็กและวัยทำงานที่ชอบอ่าน 60 นาทีต่อวัน
“ท่านนายกฯ ฝากขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันรณรงค์ให้คนไทยตื่นตัวรักการอ่านมากขึ้น แต่ได้ขอให้ สธ. พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยส่งเสริมให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในครรภ์ 6-7 เดือนถึงปฐมวัย ซึ่งจะทำให้เมื่อโตขึ้นเด็กจะมีนิสัยรักการอ่าน
แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจหรือยังเป็นจุดอ่อนการอ่านของคนไทย คือ การนิยมดูโทรทัศน์ และบางส่วนยังอ่านหนังสือไม่ออก ท่านนายกฯ จึงได้เน้นย้ำให้ ศธ.เร่งส่งเสริมให้ผู้ที่ขาดโอกาสได้รู้หนังสือ อ่านออกเขียนได้ และควรเพิ่มพื้นที่สาระดีทางโทรทัศน์ให้แก่ประชาชนทุกเพศทุกวัยให้มากขึ้น”
ข่าวเด่น