ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เตือนภัยคอทองแดง! เลี่ยงดื่มเหล้าช่วงอากาศร้อนอบอ้าว เสี่ยงช็อก เสียชีวิต


 


โฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะวิธีคลายร้อน ให้ดื่มน้ำมากๆ ให้ได้วันละอย่างน้อย 2 ลิตร ชี้น้ำจะช่วยให้ร่างกายปรับตัวดียิ่งขึ้น ผู้ที่ทำงานในที่กลางแจ้งควรดื่มให้ได้อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร พร้อมย้ำเตือนประชาชนโดยเฉพาะ        คอทองแดง ขอให้หลีกเลี่ยงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ในช่วงอากาศร้อน ไม่ว่าจะผสมน้ำแข็งหรือไม่ก็ตาม ชี้มีอันตรายสูง เสี่ยงช็อกเสียชีวิตได้       


นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ โฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สภาพอากาศในประเทศร้อนอบอ้าวมาก โดยเฉพาะในช่วงกลางวัน บางแห่งอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส   เกินอุณหภูมิปกติของร่างกายซึ่งอยู่ที่ระดับ 37 องศาเซลเซียส สภาพอากาศเช่นนี้ อาจส่งผลให้ประชาชนมีการเจ็บป่วย เนื่องจากความร้อนทำให้หลอดเลือดขยายตัว จะมีผลต่อการหมุนเวียนของเลือดในร่างกาย เกิดการสูญเสียน้ำผ่านทางผิวหนังและต่อมเหงื่อมากขึ้น จึงขอให้ประชาชนดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เนื่องจากน้ำจะเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย จะช่วยให้ร่างกายปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น  

 
 
นายแพทย์ภานุวัฒน์กล่าวว่า ประชาชนที่ต้องทำงานกลางแจ้งหรือผู้ที่ออกกำลังกาย ควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน ส่วนผู้ที่ทำงานในที่ร่ม ควรดื่มอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ทั้งนี้วิธีการสังเกตว่าร่างกายตนเองได้รับน้ำเหมาะสมเพียงพอหรือไม่นั้น ประชาชนสามารถสังเกตง่ายๆ จากสีของน้ำปัสสาวะ หากมีสีเหลืองจางๆ แสดงว่าได้รับน้ำเพียงพอ แต่ถ้าปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มคล้ายน้ำชาและปัสสาวะออกน้อย แสดงว่าได้รับน้ำไม่เพียงพอจะต้องดื่มน้ำให้มากๆ

 
สำหรับเครื่องดื่ม ที่ประชาชนไม่ควรดื่มในช่วงที่สภาพอากาศร้อนอบอ้าว คือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมทุกชนิด เช่น  เหล้า เบียร์ ไวน์ สาโท อุ กระแช่ น้ำตาลเมา เป็นต้น ไม่ว่าจะดื่มโดยใส่น้ำแข็งหรือไม่ใส่ก็ตาม เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยที่อยู่บริเวณใต้ผิวหนังขยายตัวมากขึ้น จะมีผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้นจะมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจทำงานต้องหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย  อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ ยิ่งหากผู้ดื่มที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก จะเพิ่มแรงดันโลหิตให้สูงขึ้น อาจเกิดปัญหาเส้นเลือดแตกเสียชีวิตหรือเป็นอัมพาตได้เช่นกัน
 

ทั้งนี้ข้อมูลผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดเมื่อปี 2557 ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีผู้ดื่มเหล้ามากถึง 17 ล้านกว่าคนหรือประมาณร้อยละ 32 ของประชากรวัยนี้ที่มีประมาณ 54 ล้านกว่าคน นายแพทย์ภานุวัฒน์กล่าว 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 10 เม.ย. 2559 เวลา : 11:31:38

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:26 am