นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจทั่วประเทศ จำนวน 6,176ราย เพิ่มขึ้น 578 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งมีจำนวน 5,598 ราย โดยเป็นเดือนแรกของปีนี้ที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งสูงเกิน 6,000 ราย และเป็นสถิติที่สูงสุดในรอบ 2 ปี นับจากเดือนสิงหาคม 2556 และเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2558 ที่มีจำนวน 5,698 รายเพิ่มขึ้น 478 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 สำหรับมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือนมีนาคม 2559 มีจำนวน ทั้งสิ้น 27,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,281 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24 เพิ่มขึ้นจำนวน 11,215 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2558 ซึ่งมีจำนวน 16,092 ล้านบาท
ประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 746 รายอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 334 ราย ขายส่งเครื่องจักร จำนวน 167 ราย ภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 165 ราย และให้คำปรึกษาด้านการจัดการ จำนวน 137 ราย
ส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกกิจการทั่วประเทศในเดือนมีนาคม 2559 มีจำนวน 1,183 ราย เพิ่มขึ้น 261 ราย คิดเป็นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งมีจำนวน 922 ราย โดยธุรกิจที่เลิกสูงสุดคือธุรกิจค้าสลาก จำนวน 202 ราย สาเหตุส่วนใหญ่เนื่องจากธุรกิจไม่ได้ประกอบกิจการ
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้น 1,313,544 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 20.10 ล้านล้านบาท โดยมีห้างหุ้นส่วนบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 631,195 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 15.71 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นบริษัทจำกัด 449,722 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,118 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 180,355 ราย
การจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทไตรมาส 1 ปีนี้(ม.ค.-มี.ค.) มีการจดทะเบียนจัดตั้ง 17,523 ราย เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว 4,535 ราย คิดเป็นร้อยละ 35 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 214 ราย คิดเป็นร้อยละ 1 จากการประเมินสถานการณ์การจดทะเบียนทั้งปี 2559 คาดว่าจะมีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทอยู่ระหว่าง 60,000 – 65,000 ราย โดยมีทิศทางที่สอดคล้องกับการประมาณเศรษฐกิจของของหน่วยงานภาครัฐ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.1 และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 และมีปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมาจากการใช้จ่ายภาคการลงทุนภาครัฐและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศเพิ่มเติม รวมถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจด้านต่างๆ เช่น สถานการณ์การส่งออก การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน และภาวะภัยแล้งด้วย
ข่าวเด่น