ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สบส. ระดมพลังอสม.ทั่วไทยส่องร้านค้าทำผิดกฎหมายขายเหล้า


 


กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดเต็ม 2 มาตรการสร้างความปลอดภัยคนชุมชนตลอดเทศกาลสงกรานต์ขอความร่วมมือรพ.เอกชนพร้อมดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมงตั้งแต่ 11-17 เมษายน 2559 ระดมพลัง อสม.ทั่วประเทศ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนประจำการด่านชุมชน วันละไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน ติดเบรกคนเมาไม่ขับ นักซิ่ง ตามมาตรการ 3ม.2ข.1ร. ใช้สมุนไพรเช่น รางจืด ถอนพิษเมา และส่งทีมสอดส่องร้านชำในหมู่บ้าน ขายเหล้าผิดเวลา ทั้งเหล้าโรง เหล้าพื้นบ้าน

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์ว่าในเทศกาลวันหยุดยาวฉลองเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ กรม สบส. ได้พัฒนามาตรการสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชน เฉลิมฉลองเทศกาลอย่างปลอดภัยและมีความสุข เน้นหนักในชุมชน เนื่องจากเป็นจุดรวมญาติพี่น้องประชาชนที่เดินทางกลับไปต่างจังหวัด ทำให้ชุมชนคึกคักเป็นพิเศษ โดยดำเนินการ 3 มาตรการใหญ่
 
 
 
 
 
 
 
ประการแรกให้โรงพยาบาลเอกชนที่มี 346 แห่งทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรับมือกับการเจ็บป่วยฉุกเฉินของประชาชนทั้งจากอุบัติเหตุจราจรและโรคประจำตัวกำเริบ ภายใต้ศูนย์สั่งการของจังหวัดทางหมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมห้องฉุกเฉิน กำลังแพทย์ พยาบาล เครื่องมือแพทย์ คลังเลือด ห้องผ่าตัดให้พร้อมบริการตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์ ของรัฐบาลเริ่มตั้งแต่วันที่ 11-17 เมษายน 2559

ประการที่ 2 ได้ระดมพลัง อสม.ซึ่งปีนี้จะเน้นระดับแกนนำ ซึ่งเป็นผู้ที่ประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน ยอมรับ นับถือ รู้จักคุ้นเคยกันอย่างดี เข้าร่วมปฏิบัติการที่ด่านชุมชนทั่วประเทศวันละไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน เฉลี่ยตำบลละไม่ต่ำกว่า 30 คน เพื่อร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐจากหน่วยงานต่างๆ ผู้นำชุมชน อบต. ในการลดการเกิดอุบัติเหตุจราจรให้ได้มากที่สุด ตามมาตรการ 3ม.2ข.1ร. ที่รัฐบาลกำหนด  โดยมีการคัดกรองผู้ที่ขับขี่รถก่อนออกจากถนนหมู่บ้าน  ต้องไม่เมา ไม่มีกลิ่นสุรา สวมหมวกนิรภัยทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายกรณีใช้รถจักรยานยนต์   และคาดเข็มขัดนิรภัยในผู้ขับขี่รถยนต์  รถจักยานยนต์ต้องมีอุปกรณ์สมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะกระจกส่องหลัง  ซึ่งวัยรุ่นมักจะถอดออก และมักหันไปดูแทน  อาจทำให้รถเสียหลักได้ง่าย  ผู้ขับรถทุกชนิดต้องพกใบขับขี่  รวมทั้งขับด้วยความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด คือ ในเขตเมือง/เทศบาล ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  เขตนอกเมือง นอกเขตเทศบาลความเร็ว ไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  

       
กรณีพบผู้ขับรถขณะมึนเมา อสม.จะแนะนำให้พักที่ศูนย์สร่างเมาที่ด่านชุมชน  อาจให้นอนพักจนหายเมา หรือให้ดื่มเครื่องดื่มสมุนไพรพื้นบ้านเพื่อดับพิษเมา เช่น ชารางจืด  น้ำมะนาว ซึ่งช่วยขับสารพิษออกจากร่างกายหรืออาจพาส่งกลับไปบ้าน  ประเด็นสำคัญในปีนี้ได้ให้ อสม.เพิ่มการสอดส่องการจำหน่ายเหล้าเบียร์หรือเหล้าโรง รวมทั้งเหล้าพื้นบ้านในร้านค้าในหมู่บ้านด้วย โดยขอความร่วมมือให้ร้านค้าชุมชน ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มอย่างเคร่งครัด คือห้ามจำหน่ายให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามจำหน่ายนอกเหนือเวลาที่อนุญาตให้ขายได้ 2 ช่วงเวลา คือ 11.00-14.00 น. และ17.00-24.00 น.หากพบให้รายงานเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกํานัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และให้ อสม.ตระเวนเยี่ยมเยียนจุดที่มีงานรื่นเริง เลี้ยงฉลอง เพื่อปรามไม่ให้คนที่ดื่มแล้วขับรถด้วย 

สำหรับระดับแอลกอฮอล์ในเลือดกับโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางถนน มีดังนี้ เมื่อมีระดับในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีผลให้ความสามารถในการขับรถลดลงร้อยละ 8, ระดับ 80 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีผลให้ความสามารถในการขับรถลดลงร้อยละ 12 มีผลต่อคนขับรถทุกคนมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 3 เท่าของคนที่ไม่ได้ดื่ม, ระดับ 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีผลให้ความสามารถในการขับรถลดลงร้อยละ 15 โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 6 เท่า และระดับ 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีผลให้ความสามารถในการขับรถลดลงร้อยละ 33 โอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าคนไม่ดื่มถึง 40 เท่าตัว                             


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 เม.ย. 2559 เวลา : 15:07:24

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:25 am