นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สังคมโลก กำลังเข้าสู่ “ สังคมผู้สูงอายุ ” (Aging Society ) โดย ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization ; WHO, 2,009 ) ระบุว่า ทั่วโลกมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปอย่างรวดเร็ว จาก 600 ล้านคนในปี พ.ศ.2543 คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 ล้านคนในปี พ.ศ.2568 และเป็น 2,000 ล้านคนในปี พ.ศ. 2593 และประมาณ 2 ใน 3 ของประชากรผู้สูงอายุจะอาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งการที่ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และการบริการทางการแพทย์มากกว่ากลุ่มอื่น
สำหรับประเทศไทย นอกจากการมีประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังพบว่า ปัจจุบันครอบครัวไทยมีการเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวขยายมาเป็นครอบครัวเดี่ยว ที่มีพ่อ แม่ และลูก เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุไทยอยู่ตามลำพังมากขึ้นตามไปด้วย โดยจากข้อมูลของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย พบว่า ในปี 2557 สัดส่วนของผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียวได้เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ที่มีอยู่ ร้อยละ 6 มาเป็นเกือบร้อยละ 9 เช่นเดียวกับผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังกับคู่สมรสก็เพิ่มขึ้น จาก ร้อยละ 16 ในปี 2545 มาเป็น ร้อยละ 19 ในปี 2557 ทำให้ผู้สูงอายุดังกล่าวไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร โดยเฉพาะผู้สูงอายุในชนบทจำนวนมากที่ถูกทอดทิ้งให้รับภาระเลี้ยงดูหลาน เนื่องจากพ่อแม่ต้องไปประกอบอาชีพต่างถิ่น
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใส่ใจในการดูแลรักษาสุขภาพกายและใจของตนเอง ตลอดจน ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากลูกหลาน จึงมีความสำคัญอย่างมาก และช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ไทยที่กำลังจะมาถึงก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะใช้ช่วงเวลานี้เริ่มต้นสิ่งดีๆให้กับครอบครัว ด้วยการที่ลูกหลานได้แสดงความรัก ความผูกพัน ความกตัญูญู ต่อพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ขณะเดียวกัน พ่อแม่ปู่ย่าตายายก็สามารถที่จะดูแลกายและใจของตนเองให้แข็งแรงและเข้มแข็งเพื่อเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการร่วมสร้างสรรค์สังคม
ซึ่ง การเตรียมตัวที่ดีและพร้อม จะทำให้มีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัว และสังคมได้อย่างมีความสุข โดยเริ่มจาก 1.ต้องยอมรับว่าเมื่อเข้าวัยสูงอายุแล้ว กำลังร่างกายและจิตใจย่อมเปลี่ยนแปลงในทางลดน้อยลง 2.พยายามรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ 3. ทำจิตใจให้แจ่มใส สนใจบุคคลและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งให้ความสำคัญในคำสอนของศาสนามากขึ้น และ 4.ช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด โดยคิดว่าตนเองมีความสามารถ อย่าท้อแท้ และพึ่งผู้อื่นให้น้อยที่สุด
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูแลตนเองให้มีความสุขนั้น สามารถทำได้โดยการใช้ หลัก 5 สุข ประกอบด้วย สุขสบาย (Happy Health) ด้วยการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงคล่องแคล่ว ออกกำลังด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ทำกายบริหาร ฝึกแรงกล้ามเนื้อ ออกกำลังกายด้วยยางยืด ฝึกความอดทน เล่นโยคะ เล่นกีฬา ใช้แรงกาย ในชีวิตประจำวันและงานอดิเรก รวมถึง จัดสิ่งแวดล้อมให้มีความปลอดภัย ตลอดจน ไม่ติดสิ่งเสพติด สุขสนุก (Recreation) ด้วยการทำกิจกรรมที่มีความสุข จิตใจสดชื่นแจ่มใส กระปรี้กระเปร่า ลดความเศร้าความเครียดและความวิตกกังวลได้ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การเต้นรำ ร้องเพลง เล่นเกมและกิจกรรมนันทนาการต่างๆ สุขสง่า (Integrity) ด้วยการมีความพึงพอใจในชีวิต มีความภาคภูมิใจ เชื่อมั่น เห็นคุณค่า และยอมรับนับถือตนเอง ตลอดจน เห็นใจผู้อื่น มีความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน และมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้อื่นในสังคม สุขสว่าง ด้วยการทำกิจกรรมกระตุ้นสมอง ชะลอความเสื่อมของสมองในด้านต่างๆ ทั้งด้านความจำ ความคิดอย่างมีเหตุมีผล การสื่อสาร การวางแผนการแก้ไขปัญหา กิจกรรม เช่น การเล่นเกมฝึกความจำต่าง ๆ เป็นต้น สุขสงบ (peacefulness) ด้วยการรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของตนเอง รู้จักควบคุมอารมณ์ จัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถผ่อนคลายให้เกิดความสุขสงบกับตนเองได้ มีความสามารถในการปรับตัว ยอมรับสภาพสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง กิจกรรมที่สามารถทำได้ เช่น การทำสมาธิ การหายใจที่ถูกวิธี เกร็ง เหยียดกล้ามเนื้อ เป็นต้น
สำหรับ ลูกหลาน สามารถมอบสิ่งดีๆ ให้กับพ่อแม่ปู่ย่าตายายได้ โดย การมอบความรัก เคารพยกย่อง ให้เกียรติ เชื่อฟังคำสั่งสอน ห่วงใย เอื้ออาทร ทั้งการกระทำและคำพูด เอาใจใส่และดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะในเวลาปกติหรือในเวลาเจ็บไข้ มอบความเข้าใจ ยอมรับธรรมชาติของผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมไปตามวัย ให้อภัยในความหลงลืม และความผิดพลาดที่ผู้สูงอายุกระทำ อย่าเอาแต่โมโห เพราะวันหนึ่งเราก็ต้องเข้าสู่ภาวะเสื่อมไปตามกาลเวลาเช่นเดียวกับท่าน ดังนั้น ควรถือโอกาสนี้ หันมาเข้าใจและใส่ใจสุขภาพกันและกัน ดูแลเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย หรือพาท่านไปตรวจสุขภาพ ซึ่งหากมีการเตรียมตัวที่ดีและพร้อม จะทำให้ผู้สูงอายุมีความเชื่อมั่นในตนเองเพิ่มมากขึ้น สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวและสังคมได้อย่างมีความสุข มอบการสัมผัส เช่น การกอด บีบนวด จับมือ เพื่อถ่ายทอดความรัก ถึงแม้จะเป็นการสัมผัสที่ไม่ได้ช่วยให้หายปวดเมื่อยเหมือนหมอนวดมืออาชีพ แต่เป็นการสัมผัสจากมือลูกหลาน ที่ท่านยังมองเห็นเป็นมือเล็กๆที่ท่านเคยจับ เคยหอม ก็ช่วยทำให้ท่านมีความสุขขึ้นได้ มอบเวลา ด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ กับท่าน หรือพาท่องเที่ยว พูดคุยถามทุกข์สุข ความเป็นอยู่ อำนวยความสะดวกให้ท่านในการทำกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น หากต้องการไปวัดหรือศาสนสถานต่างๆ ลูกหลานก็ควรจัดเตรียมข้าวของต่างๆ ให้ และจัดการรับส่งหรือเป็นเพื่อน และมอบโอกาส เปิดโอกาสให้ท่านได้แสดงประสบการณ์ หรือความภาคภูมิใจ หรือขอคำแนะนำปรึกษาในฐานะที่ท่านมีประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความผิดหวัง และความสำเร็จ ในชีวิตมาก่อน
รวมทั้งเปิดโอกาสให้ท่านได้ทำงานหรือกิจกรรมที่ท่านชอบหรือสามารถทำได้ ตลอดจนช่วยให้ท่านมีโอกาสพบปะสังสรรค์กับญาติสนิท และเพื่อนร่วมวัยเดียวกัน โดยการพาไปเยี่ยมเยียน หรือเชิญเพื่อนฝูงญาติมิตร มาสังสรรค์ที่บ้าน พาไปสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมของผู้สูงอายุ เช่น วัดหรือชมรมผู้สูงอายุในชุมชน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นเทศกาลหยุดยาว แต่อาจมีหลายคนที่ไม่ได้เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือร่วมกิจกรรมกับครอบครัว ก็สามารถแสดงความรักให้กับครอบครัวและพ่อแม่ปู่ย่าตายายได้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารใกล้ตัวให้เป็นประโยชน์ ง่ายที่สุด ก็คือ การโทรศัพท์ถามสารทุกข์สุขดิบกันและกัน หรือจะใช้ฟังก์ชั่นวีดีโอคอลล์พูดคุยกันแบบได้ยินทั้งเสียงและภาพ เป็นต้น แต่ที่สำคัญ อย่าลืมหาโอกาสให้เวลากับท่านในครั้งหน้าให้ได้
นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีการเดินทางกันมาก ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนอาจส่งผลให้เกิดความเครียดได้มากขึ้นจึงควรมีช่วงเวลาพัก โดยควรหยุดพักเป็นระยะๆ เพื่อผ่อนคลายอิริยาบถและความเครียดลง ตลอดจนควรทำใจให้เย็น ไม่หงุดหงิดง่าย ใช้สติปรับอารมณ์ เช่น ถ้ามีอารมณ์โกรธ จากรถติด หรือการถูกขับรถแซงหน้า ก็ให้พยายามระงับ หรือควบคุมอารมณ์โกรธนั้นด้วยสติ ขณะเดียวกันก็ต้องปรับความคิดใหม่ว่า "ถึงช้า ดีกว่าไปไม่ถึง" รวมทั้ง งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสิ่งมึนเมาทุกชนิดระหว่างการขับขี่ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นบนท้องถนนได้ “ขอให้เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ เป็นปีใหม่ไทยที่เต็มไปด้วยความรักความผูกพันและความเอื้ออาทรซึ่งกันและกันในครอบครัวและสังคมเพื่อความสุขที่ยั่งยืนของคนไทยทุกคน” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ข่าวเด่น