นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ต.ค.2558-มี.ค.2559)มียอดขายหรือเช่าพื้นที่ได้ 1,750 ไร่ เกินกว่าเป้าหมายไป 250 ไร่ จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 1,500 ไร่ คาดทั้งปีจะมียอดขายพื้นที่ในนิคมฯ 3,500-4,000 ไร่ เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3,000 ไร่ เนื่องจากภาครัฐมีการลงทุนต่อเนื่อง ที่จะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนตามมา
กลุ่มอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอันดับ 1 คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง อันดับ2 คือ อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะในพื้นที่นิคมอมตะซิตี้ อันดับ3 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ อันดับ4 อุตสาหกรรมยาง พลาสติก หนังเทียม และอุตสาหกรรมปุ๋ย สี และเคมีภัณฑ์ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย (สุวรรณภูมิ) สมุทรปราการ และอุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช เป็นต้น
ภาพรวมการลงทุนสะสมมีพื้นที่ขายหรือให้เช่าไปแล้ว 83,377 ไร่ เป็นพื้นที่นิคมที่ กนอ.ดำเนินการเอง 23,752 ไร่ เป็นนิคมที่ กนอ.ร่วมดำเนินงาน 59,625 ไร่ จากพื้นที่สำหรับขายหรือให้เช่า 102,056 ไร่ เป็นพื้นที่ในนิคมที่ดำเนินการเอง 26,009 ไร่ และเป็นพื้นที่ในนิคมร่วมดำเนินงาน 76,047 ไร่ มีจำนวนผู้ใช้ที่ดิน 4,379 ราย อยู่ในนิคมที่ดำเนินการเอง 1,601 ราย อยู่ในนิคมร่วมดำเนินการ 2,778 ราย คิดเป็นการลงทุนมูลค่ารวม 2.99 ล้านล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงาน 580,820 คน
ยอดขายที่กล่าวมาขั้นต้น ทำให้ขณะนี้นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศมีพื้นที่เหลือขายหรือให้เช่ารวม 18,679 ไร่ เป็นพื้นที่นิคมที่ กนอ.ดำเนินการเอง 2,257 ไร่ และนิคมที่ กนอ.ร่วมดำเนินงาน 16,422 ไร่ อย่างไรก็ดี ยังมีนิคมอีก 13 แห่ง มีพื้นที่ 23,373 ไร่ ยังไม่เปิดดำเนินการ
สำหรับความคืบหน้าการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ.... นายวีรพงศ์กล่าวว่า ขณะนี้เตรียมประสานการหารือกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกิดความกังวล โดย กนอ.จะสรุปประเด็นต่างๆ ที่เป็นปัญหาหรือข้อสงสัยไปชี้แจงภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ก่อนนำเสนอกลับไปให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ข่าวเด่น