กระทรวงเกษตรฯ จับมือฮังการี หารือความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร หนุน MOU ด้าน Animal Health ด้านการเกษตร และด้านความปลอดภัยทางอาหาร พร้อมสานสัมพันธ์แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาสินค้าเกษตรระหว่างทั้งสองประเทศ
นางวิมลพร ธิติศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือด้านการเกษตรร่วมกับ นายกิวลา บูได (Mr.Gyula BUDAI) Ministerial Commissioner, Ministry of Foreign Affairs and Trade of Hungary ว่า ได้มีการหารือความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร โดยที่ผ่านมาไทยและฮังการีได้มีความร่วมมือทางวิชาการภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทฮังการี มานานเกือบ 15 ปี มีโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันกว่า 37 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ 15 โครงการ
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านปศุสัตว์และประมง และในโอกาสดังกล่าว ฝ่ายฮังการีได้เสนอจัดทำ MOUด้าน Animal Health ระหว่างกรมปศุสัตว์ และหน่วยงาน Department of Food Chain ของฮังการี ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการส่งร่างแก้ไขของฝ่ายฮังการี ทั้งนี้ หากความตกลงดังกล่าวสำเร็จได้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งกรอบความร่วมมือทางวิชาการของระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
?นอกจากนี้ ฮังการีได้ขอให้กรมปศุสัตว์ พิจารณากำหนดการเดินทางไปตรวจประเมินโรงงานผลิตตับเป็ด ตับห่าน ลูกไก่และไข่ฟัก ณ ประเทศฮังการี พร้อมทั้งขอให้เพิ่มการตรวจเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ในการเดินทางไปตรวจประเมิน โดยฮังการีได้ส่งจดหมายเชิญเจ้าหน้าที่กรมไปตรวจประเมินโรงงานผลิตในเบื้องต้นแล้ว ทั้งนี้ ฝ่ายฮังการี ได้เชิญไปร่วมคณะตรวจประเมินที่ประเทศฮังการี เพื่อรับชมโรงงาน และกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานของฝ่ายฮังการีด้วย อย่างไรก็ตาม การเพิ่มเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ในการตรวจประเมินต้องเสนอที่ประชุมเพื่อพิจารณาก่อน ซึ่งกรมปศุสัตว์จะแจ้งผลการพิจารณาให้ทางฮังการีทราบต่อไป นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังได้เสนอให้มีความร่วมมือด้านวิชาการเกี่ยวกับพันธุ์องุ่น เพื่อพัฒนาการผลิตไวน์ในประเทศไทยอีกด้วย
?สำหรับด้านการค้าระหว่างไทยและฮังการีนั้น ในระหว่างปี 2555 - 2557 ฮังการีเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 137 ของไทย โดยสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.สับปะรดปรุงแต่ง 2.ปลาป่น 3.ปลาซาดีนปรุงแต่ง 4.ซอสปรุงแต่งประเภทซอสพริกน้ำปลาและของผสมอื่นๆ ที่ใช้ปรุงรสรวมถึงกะปิ และ 5. ผงโกโก้ที่ไม่เติมน้ำตาล ขณะที่สินค้านำเข้าที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.เนื้อสัตว์หรือส่วนอื่นๆของสัตว์ที่ป่นหรือทำเป็นเพลเลต 2.ส่วนอื่นๆ ของเป็ดแช่เย็นจนแข็ง 3.หางนม(เวย์) และหางนมดัดแปลง (โมดิไฟเวย์) 4.ส่วนอื่นๆ ของห่านแช่เย็นจนแข็ง และ 5 .อาหารปรุงแต่งอื่นๆ
ข่าวเด่น