สปสช.รุกงานดูแลผู้สูงอายุ เร่งกระจายงบ LTC 600 ล้านบาท ผ่านกองทุนสุขภาพท้องถิ่น หนุน อปท.เป้าหมายในปี 59 จำนวน 1,067 แห่ง จับมือหน่วยบริการปฐมภูมิพื้นที่ จัดบริการสาธารณสุขดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิงเพิ่มเติม ยกระดับได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้น
นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า วันที่ 13 เมษายนของทุกปี รัฐบาลได้กำหนดให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ไม่เพียงแต่ให้ลูกหลานเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ เนื่องจากภาวะสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังให้ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องเน้นดำเนินนโยบายเพื่อดูแลผู้สูงอายุ รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ซึ่งจะมาพร้อมกับปัญหาการเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการดูแลที่บ้านด้วยผู้ดูแลที่มีศักยภาพและชุมชนดูแล และการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น
โดยขณะนี้ประมาณการณ์มีผู้สูงอายุในประเทศไทยจำนวนกว่า 10 ล้านคน และในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิงประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งได้รับสิทธิการดูแลสุขภาพสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามเอกสารแนบท้ายประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (ฉบับที่ 2) ปี 2559 ทั้งบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ที่เป็นบริการจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ
ทั้งนี้เพื่อให้ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการดูแลครบถ้วน ช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันได้ที่บ้านและการฟื้นฟูสมรรถภาพจากหน่วยบริการ ในปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลจึงได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากงบเหมาจ่ายรายหัวปกติจำนวน 600 ล้านบาท เพื่อให้มีการจัดบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิงอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ในพื้นที่ นำไปสู่การจัด “ระบบบริการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสําหรับผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่” (Long Term Care- LTC) โดยมอบให้ สปสช.จัดการให้กับผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิงจำนวน 100,000 ราย ครอบคลุมร้อยละ 10 ของกลุ่มเป้าหมาย และจะขยายงบประมาณให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นภายใน 3-5 ปี
นพ.ชูชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช.ได้ทยอยกระจายงบประมาณดังกล่าวผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กองทุนสุขภาพตำบล) ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีความพร้อมเข้าร่วมแล้ว ซึ่งมีเป้าหมายจำนวน 1,067 แห่ง โดย อปท.จะนำงบประมาณที่ได้รับจัดสรรเพิ่มเติมนี้ ไปดำเนินการเพื่อพัฒนาผู้ดูแล (Care Giver) และจัดบริการด้านสาธารณสุขให้กับผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่เพิ่มเติมอย่างเหมาะสมและให้มีบริการจากหน่วยบริการปฐมภูมิ
นพ.ชูชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินนโยบายนี้เป็นการมุ่งให้เกิดการบูรณาการด้านบริการสาธารณสุขและบริการด้านสังคมระดับพื้นที่ พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนให้ อปท.ทั้งเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นเจ้าภาพหลักในการบริหารระบบภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและขยายระบบบริการดูแลระยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ที่ยั่งยืนต่อไป
ข่าวเด่น