วันนี้ (12 เมษายน 2559) นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เยี่ยมชมความพร้อมการบูรณาการการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่าย ในพื้นที่ อ.หนองแค จ.สระบุรี เน้นการทำประชาคมหมู่บ้าน เรื่องการป้องกันการบาดเจ็บทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ การตั้งด่านชุมชน เยี่ยมศูนย์สร่างเมา รวมถึงประชาสัมพันธ์การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่และเวลาที่ห้ามจำหน่าย ในระหว่างเดินทางเข้าเยี่ยมติดตามงานของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จ.สระบุรี
นายแพทย์อำนวย กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลจะเป็นช่วงหนึ่งที่มีการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากการการจราจรสูง จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2554 - 2558) พบว่าในช่วงสงกรานต์ 7 วัน มีผู้เสียชีวิต 1,986 คน บาดเจ็บ 134,591 คน เฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตวันละ 57 คน บาดเจ็บวันละ 3,845 คน หรือประมาณ 2 เท่าในช่วงปกติ สำหรับผู้ดื่มแอลกอฮอล์ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์บาดเจ็บและเสียชีวิต คิดเป็นบนถนนชนบทร้อยละ 65.7 บนถนนทางหลวงร้อยละ 20.1 และบนถนนในเมืองร้อยละ 14.2 ด้านกลุ่มเสี่ยงต่อการบาดเจ็บในช่วงสงกรานต์คือ กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15–19 ปี เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะนอกจากจะเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุดแล้ว ยังพบว่ายานพาหนะของการเกิดอุบัติเหตุในกลุ่มอายุนี้เป็นรถจักรยานยนต์ถึงร้อยละ 86.1 และเป็นกลุ่มผู้บาดเจ็บที่ไม่สวมหมวกนิรภัยสูงถึงร้อยละ 86.2 และมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วเกิดอุบัติเหตุสูงถึงร้อยละ 33.0 สำหรับสถานการณ์การบาดเจ็บจากจราจร จ.สระบุรี ในเทศกาลสงกรานต์ปี 2558 ที่ผ่านมา มีผู้บาดเจ็บ 372 คน และมีผู้เสียชีวิต 5 คน
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้การป้องกันการบาดเจ็บจากการจราจรเป็นวาระสำคัญที่ต้องดำเนินการตลอดทั้งปี โดยได้ร่วมมือกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ขับเคลื่อนมาตรการชุมชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 สนับสนุนนโยบายให้มีการตั้งด่านชุมชน 1 หมู่บ้าน 1 ด่านชุมชน ซึ่งคาดว่าจะมีการตั้งด่านชุมชนประมาณ 74,956 ด่าน (เป็นด่านในระดับตำบล 7,255 ด่าน) โดยเน้นให้มีการดำเนินการตั้งด่านในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยมีผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชน ชาวบ้าน อาสาสมัคร สกัดกั้น/ตักเตือนกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มสุราแล้วขับรถ ขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกกันน็อค ไม่ให้ออกไปสู่ถนนใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะมีจิตอาสาร่วมดำเนินการกว่า 700,000 คน ในส่วนของการบริการการแพทย์ฉุกเฉินนั้นมีทั้งสิ้น 14,576 ทีม รวมเป็นจำนวนเจ้าหน้าที่ 164,939 คน
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ สนับสนุนการดำเนินการด่านชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการเตรียมชุมชนด้วยมาตรการ ดังนี้ 1) การทำธรรมนูญอุบัติเหตุชุมชนหรือประชาคมหมู่บ้าน/ชุมชนใช้แนวทางประชารัฐสร้างข้อตกลงร่วมกัน โดยผู้นำชุมชนและเครือข่าย 2) การประกบกลุ่มเสี่ยง สื่อสาร/เตือนไปยังกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่น (Teen Driver),คนดื่มแล้วเมา, คนขับรถเร็ว และร้านขายสุรา 3) ด่านชุมชนเชิงรุก เตรียมทีมผู้ปฏิบัติประจำด่านชุมชน ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แกนนำอาสาสมัครต่างๆ อบรมซักซ้อมความเข้าใจในวิธีปฏิบัติในด่านชุมชน วิธีการเรียกตรวจเตือนเพื่อการดำเนินงานอย่างจริงจัง
ด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ให้การสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์สร่างเมา โดยมีกิจกรรมช่วยให้หายเมาเร็วขึ้นและให้คำปรึกษาแนะนำสั้นๆ เหมาะกับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายแต่ไม่ใช่ผู้ติดสุรา มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้ที่ดื่มปลอดภัยจากการบาดเจ็บทางถนน ซึ่งศูนย์สร่างเมาอาจตั้งอยู่ในด่านชุมชนหรือบริเวณใกล้เคียงด่านชุมชน รวมถึงมีการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551อย่างเคร่งครัด จึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังหน่วยงานรัฐ เอกชน และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ให้ปฏิบัติตามข้อกฎหมายอย่างจริงจัง โดยให้จำหน่ายในช่วงเวลา 11.00 - 14.00 น. และ 17.00 - 24.00 น.และจำหน่ายในสถานที่ที่กำหนด ซึ่งอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อต้องไม่ต่ำกว่า 20 ปี และห้ามจำหน่ายในลักษณะลด แลก แจก แถม อีกด้วย
ในโอกาสสงกรานต์ที่จะถึงนี้ ขอให้ทุกท่านใช้รถใช้ถนนอย่างระมัดระวัง เนื่องจากจะมีประชาชนเดินทางกลับยังภูมิลำเนาและมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก รวมถึงขอความร่วมมือผู้นำชุมชนในการตั้งด่านชุมชนที่ปากทางเข้าหมู่บ้านหรือชุมชนที่มีการจัดงานหรือในพื้นที่เสี่ยง เตรียมชุมชนให้พร้อมรับมือ หากชุมชนมีความเข้มแข็งจะเป็นการป้องกันและลดอุบัติเหตุในระยะยาวได้ ส่วนที่สำคัญที่สุดหากมีการทำข้อตกลงหรือประชาคมหมู่บ้านร่วมกันและพร้อมใจกันปฏิบัติ จะเป็นการช่วยสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนที่มีความยั่งยืนต่อไป เที่ยวสงกรานต์ปลอดภัย ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สร้างวินัยจราจร หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 หรือขอความช่วยเหลือฉุกเฉินโทรสายด่วน 1669
ข่าวเด่น