กระทรวงสาธารณสุข เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีข่าวการฉีดสารฟอร์มาลินในตัวปลาทับทิม ประสาน สคบ.หาแหล่งจำหน่าย เพื่อส่งทีมหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่ความปลอดภัยอาหาร (Mobil Unit) เก็บตัวอย่างปลาทับทิมมาตรวจสอบ ชี้ผู้ลักลอบใช้สารฟอร์มาลินกับอาหาร จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้ากรณีข่าวการฉีดสารฟอร์มาลินในตัวปลาทับทิม ว่า ได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย สืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสารฟอร์มาลินที่เป็นข่าวในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2559 และการชี้แจงของนักวิชาการกรณีการใช้สารฟอร์มาลินเพื่อป้องกันโรคในการเลี้ยงสัตว์น้ำต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม แต่ไม่พบข้อมูลการฉีดสารฟอร์มาลินเข้าไปในเนื้อปลาโดยตรง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ และได้ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หาแหล่งจำหน่ายที่อ้างถึง เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ส่งทีมหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่ความปลอดภัยอาหาร (Mobil Unit) ลงเก็บตัวอย่างปลาทับทิมมาตรวจวิเคราะห์หาสารฟอร์มาลิน (Formalin)
หากพบมีการลักลอบใช้สารฟอร์มาลินจริง จะดำเนินการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 โดยผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวต่อว่า ในการเลือกซื้อปลา ควรเลือกซื้อจากร้านที่น่าเชื่อถือ สะอาด และถูกสุขลักษณะ และสังเกตลักษณะของปลา ต้องมีตาที่ใส เหงือกแดงสด หัวปลาและเกล็ดติดอยู่กับลำตัว เนื้อแน่น กดไม่ยุบตามรอยนิ้วมือ บริเวณใต้ท้องปลาสะอาด ท้องแน่น ไม่มีกลิ่นเหม็นเน่าหรือกลิ่นฉุนของฟอร์มาลิน หากเนื้อปลามีลักษณะเนื้อแข็ง แต่บางส่วนเปื่อยยุ่ย ไม่ควรซื้อเพราะอาจปนเปื้อนฟอร์มาลินได้
ทั้งนี้ ปลา เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ไขมันต่ำ และมีโปรตีนสูง ซึ่งช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เสริมสร้างการเจริญเติบโตแก่ร่างกาย และมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด รวมทั้งกรดไขมันไม่อิ่มตัว “โอเมก้า 3” ซึ่งช่วยลดการสะสมของโคเลสเตอรอล ที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ สำหรับปลาที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดนั้น มักจะเน่าเสียได้ง่าย ทำให้ผู้ประกอบการบางรายนำสารฟอร์มาลินมาใช้ เพื่อรักษาสภาพความสดของปลาเอาไว้ ซึ่งฟอร์มาลินเป็นสารเคมีที่ใช้มากในการฆ่าเชื้อและทำความสะอาด ทั้งด้านอุตสาหกรรม การเกษตร และการแพทย์ หากรับประทานเข้าไป จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร อาเจียน มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร และลำไส้ ทำให้เสียชีวิตได้ หากสัมผัสทางผิวหนังโดยตรง จะมีผื่นคัน ผิวหนังไหม้
ข่าวเด่น