กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข ห่วงคนขับรถทางไกล หวั่นอาการง่วงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ แนะนำให้บริหารหน้าคลายง่วง พร้อมย้ำ ควรจอดพักทุก 2 ชั่วโมง เพื่อเคลื่อนไหวร่างกาย และยืดเหยียดคลายเมื่อย ระหว่างทาง
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนนิยมขับรถเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด การขับรถนานเกินไปทำให้เกิดอาการปวดหลังและความเมื่อยล้า จึงต้องมีวิธีการนั่งขับรถให้ถูกต้องคือ ต้องอยู่ในท่าที่สบายที่สุด หลังตรง ไม่โค้งหรือบิด ปรับที่นั่งจนมองเห็นได้รอบ เลื่อนเก้าอี้มาทางด้านหน้าให้เท้าสามารถควบคุมคันเร่ง เบรก และคลัตช์ได้สะดวก ปรับพนักพิงศีรษะให้สูงเท่าระดับศีรษะ และหากมีอาการง่วง ควรบริหารใบหน้าซึ่งจะช่วยให้ผู้ขับรถคลายง่วงได้
โดยเริ่มจากท่าที่ 1 เอียงศีรษะไปทางขวา ค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นย้ายมาข้างซ้าย ทำสลับไปมา
ท่าที่ 2 เอียงหน้าไปทางขวาค้างไว้ 5 วินาที กรอกตาขึ้นลง 5 วินาที หันไปทางด้านซ้ายทำเหมือนเดิม ทำซ้ำ 2-10 ครั้ง
ท่าที่ 3 แลบลิ้นออกมาให้ยาวที่สุดค้างไว้ 60 วินาที
ท่าที่ 4 ยกคิ้วขึ้นเปิดตาให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ ห่อปาก ทำซ้ำ 5 ครั้ง
ท่าที่ 5 เปิดตาให้กว้างที่สุดโดยไม่ต้องยกคิ้วขึ้น ทำซ้ำ 5 ครั้ง
ท่าที่ 6 เงยหน้ามองที่เพดาน ค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 5 ครั้ง
ท่าที่ 7 หายใจเข้าลึก ๆ ขณะหายใจออกให้ห่อปากพ่นลมหายใจออกมาพร้อมกัน ทำท่านี้ 30 วินาที ถึง 1 นาที
และท่าที่ 8 ให้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางติดกัน วางไว้บนโหนกแก้มขวา กดลงเล็กน้อย จากนั้นให้ยิ้มกว้างเพื่อยกโหนกแก้มให้สูงขึ้น ค้างไว้ 5วินาที จากนั้นสลับมาด้านซ้าย ทำซ้ำเหมือนเดิม สลับไปมา ข้างละ 3 ครั้ง
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อว่า เมื่อขับรถในระยะไกลๆ ควรหยุดพักทุก 2 ชั่วโมง และปรับเปลี่ยนอิริยาบถด้วยการบริหารร่างกาย 10 ท่า เริ่มจากท่าที่ 1 ยืนตรง มือท้าวเอว ยื่นคางไปด้านหน้าจนใต้คางตึง ทำค้างไว้ 15 วินาที กลับสู่ท่าเริ่มต้นศีรษะตรง จากนั้นก้มศีรษะจนตึงบริเวณคด้านหลัง ค้างไว้ 15 วินาที กลับสู่ท่าเดิม โดยขณะบริหารกายต้องไม่กลั้นหายใจ ท่าที่ 2 ยืนตัวตรง วางมือซ้ายบนศีรษะแล้วเอียงคอมาด้านขวาจนรู้สึกคอด้านซ้ายตึง ค้างไว้ 15 วินาที และทำข้างซ้ายเหมือนเดิมอีกครั้ง ท่าที่ 3 ยืนแยกเท้าเท่าหัวไหล่ มือวางที่ขอบรถแล้วก้มตัวลงจนรู้สึกตึงที่ไหล่และหลังส่วนบน แขนตึง ค้างไว้ 15 วินาที ท่าที่ 4 ยืนตรง แยกแขนขวาพับลงไว้กลางหลัง มือซ้ายจับศอกขวาตึงมาทางด้านซ้ายจนตึงต้นแขนด้านหลัง ค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำใหม่ที่ข้างซ้ายเหมือนเดิม ท่าที่ 5 ยืนตรง ยกแขนขวาไปด้านหน้าระดับไหล่ ปลายนิ้วตั้งขึ้นบน ใช้มือซ้ายวางที่ฝ่ามือขวาแล้วดันเข้าหาตัวจนรู้สึกตึงปลายแขนด้านใน ค้างไว้ 15 วินาที แล้วทำซ้ำใหม่ข้างซ้ายเหมือนเดิม ท่าที่ 6 ยืนตรง แยกแขนขวาไปด้านหน้าระดับไหล่ คว่ำมือลง ใช้มือซ้ายวางที่หลังมือขวาแล้วดันเข้าหาตัวจนรู้สึกตึงปลายแขนด้านนอก ค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำใหม่ข้างซ้ายเหมือนเดิม
"ท่าที่ 7 ยืนตรง ประสานมือขึ้นเหนือศีรษะ แขนตรงแล้วเอียงตัวไปด้านซ้ายจนรู้สึกลำตัวด้านขวาตึง ค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำใหม่ด้านตรงข้ามเหมือนเดิม ท่าที่ 8 ยืนแยกเท้าห่างกันเท่าหัวไหล่ ค่อยๆ ก้มตัวลงจนรู้สึกตึงที่หลัง หรือมือแตะที่ปลายเท้าค้างไว้ 15 วินาที ท่าที่ 9 ยืนตรง มือซ้ายจับขอบประตูรถยนต์ พับขาขวาขึ้น มือขวาจับปลายเท้าขวาแล้วดึงขึ้นจนตึงต้นขาด้านหน้า ค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำใหม่ข้างซ้ายเหมือนเดิม และท่าที่ 10 ยืนตรง มือจับท้ายรถยนต์ ก้าวเท้าซ้ายไปด้านหน้า ย่อเข่าซ้ายไปด้านหน้าจนน่องที่ขาขวาตึง ค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำใหม่ขาด้านตรงกันข้ามเหมือนเดิม การบริหารร่างกายระหว่างขับรถทางไกลจะทำให้ผู้ขับขี่ได้ผ่อนคลาย เกิดความกระปรี้ประเป่า และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเดินทาง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ข่าวเด่น