กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เร่งพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุข ร่วมจัดระบบดูแลผู้สูงอายุในทุกตำบล หมู่บ้าน พร้อมรับมือการเป็นสังคมผู้สูงวัยของประเทศ ผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2557 ไทยมีผู้สูงอายุ 10 ล้านกว่าคน โดยมี 8 แสนกว่าคนที่อยู่คนเดียวในบ้านตามลำพังเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวในรอบ 20 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอีก 1.3 ล้านคน อยู่ในสภาพติดบ้าน และหง่อม นอนแซ่ว ติดเตียง ต้องได้รับการดูแล
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันที่ 13 เมษายนทุกปีเป็นวันผู้สุงอยุ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขให้แก่ผู้สูงอายุที่มีภาวะต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือ เพื่อจัดระบบการดูแลให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนในแต่ละตำบล ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การพัฒนาเป็นตำบลจัดการสุขภาพที่มีการบูรณาการการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข และประชาชน เพื่อดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่มวัย ในพื้นที่ ซึ่งกรม สบส. มีนโยบายผลักดันให้เกิดตำบลจัดการสุขภาพเป็นรูปธรรมภายในปี 2559 นี้ จำนวน 5,079 ตำบล หรือร้อยละ 70 ของตำบลที่มีทั้งหมด โดยการทำงานของตำบลจัดการสุขภาพนี้ จะเน้นหนักที่การสร้างเสริมสุขภาพ ลดการเจ็บป่วย ประชาชนมีสุขภาพดี
ข้อมูลผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2557 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 10 ล้านกว่าคน หรือประมาณร้อยละ 15 ของประชากรทั้งประเทศ กลายเป็นสังคมของผู้สูงวัย ซึ่งมีจำนวนผู้สูงอายุมากว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่วัยเด็ก วัยแรงงานลดลง ผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่ในนอกเขตเทศบาล ที่น่าสังเกต พบว่า มีผู้สูงอายุร้อยละ 8.7 หรือจำนวน 8 แสนกว่าคนที่อยู่บ้านตามลำพัง ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวในรอบ 20 ปี สาเหตุที่อยู่ลำพังคนเดียว คือ โสด ไม่มีลูกหลาน คู่สมรสเสียชีวิตก่อน หรือลูกหลานมีภารกิจอยู่ต่างถิ่น ผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง จึงขาดการดูแลยามเจ็บป่วย เหงา และมักจะมีปัญหาด้านการเงินด้วย นอกจากนี้ยังมีผลการตรวจคัดกรองสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุของผู้สูงอายุ 6 ล้านกว่าคนในปี 2558 พบผู้สูงอายุจำนวน 1.3 ล้านกว่าคน อยู่ในสภาพติดบ้าน คือ มีข้อจำกัดในการเดินไม่สะดวกในการออกนอกบ้าน และอยู่ในสภาพหง่อม นอนติดเตียง ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง ต้องพึ่งพิงคนช่วยดูแล
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรืองกล่าวต่อว่า ในการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน หมู่บ้าน กรม สบส. ได้จัดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขทุกจังหวัดรวม 52,236 คน ตำบลละ 6 คน ให้เป็นผู้ร่วมจัดการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ประสานทำงานร่วมกับทีมหมอครอบครัวในการเยี่ยมบ้าน เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุทั้งด้านการได้รับสิทธิสวัสดิการต่างๆ การปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับสภาพการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ยู่อาศัยให้ปลอดภัยที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งที่พบได้บ่อยคือ ปัญหาหกล้ม และกระตุ้นในครอบครัวให้ความสำคัญในการดูแล ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลในชุมชนอย่างอบอุ่น ลดการพึ่งพิงโรงพยาบาล เกิดระบบการดูแลเชื่อมต่อกันระหว่างภาครัฐ ชุมชน ครอบครัว โดยจะขยายให้ครอบคลุมทุกตำบล ภายในพ.ศ. 2561 ตามเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
สำหรับจังหวัดที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศในปี 2557 ได้แก่ นครราชสีมา 423,934 คน รองลงมาคือขอนแก่น 292,217 คน เชียงใหม่ 274,331 คน อุบลราชธานี 273,687 คน นครศรีธรรมราช 256,617 คน
ข่าวเด่น