โฆษกรัฐบาลเผยปฏิบัติการฝนหลวงประสบความสำเร็จร้อยละ 76.8 ช่วยเติมน้ำในเขื่อนกว่า 50 ล้าน ลบ.ม. แจงมีน้ำสำรองต้นฤดูฝนสูงกว่าคาดการณ์ แต่ยังต้องแนะใช้น้ำอย่างคุ้มค่าหนุนความมั่นใจมีน้ำใช้ตลอดปี
พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วซึ่งออกปฏิบัติการ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมาจนถึงช่วงก่อนสงกรานต์ ได้ออกปฏิบัติการบินไปแล้วทั้งสิ้น 537 เที่ยวบิน คิดเป็นชั่วโมงบินประมาณ 760 ชั่วโมง โดยมีฝนตกจากการออกปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 76.9 ของจำนวนเที่ยวบินที่ขึ้นทำการบิน
“ การปฏิบัติการฝนหลวง ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างสะสมประมาณ 51.55 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้การปฏิบัติการฝนเทียมในบางพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต่ำส่งผลให้ไม่มีกลุ่มเมฆก่อตัวในบริเวณพื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวทำให้เมฆไม่พัฒนาตัวหรือเมื่อก่อตัวแล้วก็สลายไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามจากปฏิบัติการฝนเทียมได้ทำให้เกิดฝนตกกระจายตัวรวม 41 จังหวัดทั่วประเทศ ท่านนายกฯฝากขอบคุณเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการฝนเทียมทุกท่าน ที่ทำงานอย่างหนักต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อนจนปีนี้ ที่เป็นกำลังสำคัญหน่วยหนึ่งในการคลี่คลายสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศไทยลง”
พลตรีสรรเสริญ กล่าวถึงสถานการณ์ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ว่าเมื่อสิ้นฤดูฝน คือ 1 พ.ย. 2558 มีปริมาณน้ำใช้การได้ 4,247 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำเข้าเขื่อน ทั้งสิ้น 1,042 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่จนถึงปัจจุบันมีการระบายน้ำออกเพื่อการเกษตร การอุปโภค บริโภค และการรักษาระบบนิเวศ 2,169 ล้าน ลบ.ม.
“เมื่อหักปริมาณน้ำที่ต้องใช้ในกิจกรรมทุกประเภท ตลอดช่วงเดือนเมษายน เชื่อว่าจะมีปริมาณน้ำสำรองในเขื่อนหลักไว้ในต้นฤดูฝน คือ พ.ค.- ก.ค. จำนวน 1,814 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 1,347 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตามแม้จะมีปริมาณน้ำสำรองมากกว่าที่คาดการณ์ไว้แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีน้ำใช้อย่างเหลือเฟือหรือเพียงพอ และยังมีความจำเป็นที่จะต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการประหยัดและใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และขอขอบคุณพี่น้องเกษตรกรจำนวนมากที่ตอบรับนโยบายของรัฐบาลในการปรับเปลี่ยนวิถีการปลูกพืช จากพืชใช้น้ำมากไปสู่การปลูกพืชน้ำน้อย และการเลี้ยงปศุสัตว์ รวมทั้งให้ความร่วมมือในการไม่ลักลอบนำน้ำไปใช้ในการปลูกข้าวนาปรัง ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการควบคุมการส่งน้ำไปถึงพื้นที่เป้าหมายเพื่อผลิตน้ำประปาสำหรับพี่น้องประชาชนได้มีน้ำกิน น้ำใช้ อย่างพอเพียงในฤดูร้อนนี้”
ข่าวเด่น