ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ชงแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ


 


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและผู้แทน 12 ประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมมือจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ เพราะหากไม่รีบแก้ไขอีก 34 ปี ทั่วโลกจะมีคนเสียชีวิตจากปัญหาเชื้อดื้อยากว่า 10 ล้านคน โดยผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งอยู่ในทวีปเอเชีย รวมทั้งจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมอย่างมหาศาล เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำจีเจ็ด (G7) ในเดือนกันยายน 2559 ก่อนนำเข้าสู่การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพในเอเชีย (Tokyo Meeting of Health Ministers on Antimicrobial Resistance in Asia) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จัดโดยกระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่น ร่วมกับสำนักงานองค์การอนามัยโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก โดยมีรัฐมนตรีสาธารณสุขและผู้แทนจาก 12 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บังกลาเทศ  จีน อินเดีย  ญี่ปุ่นอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ เมียนมา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม เข้าร่วมประชุมโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะกระตุ้นเจตจำนงและความมุ่งมั่นทางการเมือง (Political Commitment) เพื่อแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial resistance: AMR) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
 
 

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ยาปฏิชีวนะ ซึ่งใช้ในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียและจุลชีพอื่นๆ กลับมีประสิทธิภาพลดลง เนื่องจากมีการใช้เกินความจำเป็น ทำให้เชื้อแบคทีเรียมีพัฒนาการดื้อยาได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับบริษัทผู้ผลิตยาไม่มีแรงจูงใจในการผลิตยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ๆ ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกตกอยู่ในวิกฤตร่วม คือกำลังเข้าสู่ยุคที่โรคติดเชื้อที่เดิมเคยรักษาหาย กลับรักษาไม่หายเพราะเชื้อดื้อยา  หากไม่รีบแก้ไขคาดว่าในปีพ.ศ. 2593 ทั่วโลกจะมีคนเสียชีวิตจากปัญหาเชื้อดื้อยารวม 10 ล้านคน และประเทศในทวีปเอเชียจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะจะเสียชีวิตมากที่สุดสูงถึง 4.7 ล้านคน นอกจากนี้ ปัญหาเชื้อดื้อยา ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งต่อการปศุสัตว์ การประมง การเพาะปลูก การค้าระหว่างประเทศ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วไป และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ (medical tourism) เนื่องจากแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ สามารถแพร่กระจายข้ามพรมแดนได้โดยผ่านการเคลื่อนย้ายของคน สัตว์ และสินค้าทางการเกษตร

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและผู้แทนของ 12 ประเทศได้แสดงวิสัยทัศน์ และแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าในการพัฒนาและดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ (National Action Plan) ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์โลกว่าด้วยการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ (Global Action Plan on AMR) ที่ผ่านการเห็นชอบจากการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 68 พ.ศ. 2558 โดยที่ประชุมรับรองแถลงการณ์ของรัฐมนตรีสาธารณสุข (Ministerial Communique) ว่าด้วยความร่วมมือของประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิกในการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพในเอเชีย โดยประเทศญี่ปุ่นจะนำแถลงการณ์ของรัฐมนตรีสาธารณสุข จากการประชุมนี้ นำเสนอในการประชุมระดับผู้นำประเทศกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ( G7 Summit) ในเดือนพฤษภาคม 2559และในการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ ระดับรัฐมนตรีสาธารณสุข ในเดือนกันยายน 2559 เพื่อขับเคลื่อนเรื่องปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ เข้าสู่การประชุมระดับสูงของการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ในเดือนกันยายน 2559 ต่อไป




 

 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 เม.ย. 2559 เวลา : 12:08:45

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:17 pm