กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบผู้ตรวจราชการลงสแกนปัญหา-อุปสรรคในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ปูพรมคลอบคลุมพื้นที่ 68 จังหวัด 311 อำเภอ พร้อมเชื่อมโยงทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บูรณาการความร่วมมือจากทุกกระทรวง ทบวง กรม ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 เป็นต้นมา ซึ่งได้จัดทำมาตรการต่าง ๆ ทั้งในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และบูรณาการการทำงานมาตรการอื่น ๆ จากอีกหลายกระทรวง
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานยังจำเป็น ที่จะมีการขับเคลื่อนการทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งทีมผู้บริหารระดับสูง คือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 11 คน ลงพื้นที่ที่มีความเสียงภัยแล้งในลักษณะปูพรมคลอบคลุมพื้นที่ 68 จังหวัด 311 อำเภอ เพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่อย่างเร่งด่วน
รวมทั้งสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ ซึ่งในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง ผู้ตรวจราชการทั้ง 11 คน จะมีการกำหนดแผนงาน อาทิ มาตรการภัยแล้ง 8 มาตรการ ได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง มีปัญหาและอุปสรรคอย่างไร โดยจะมีการให้ความสำคัญในมาตรการที่ 1 และมาตรการที่ 4 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการจัดสรรงบประมาณในช่วยเหลือ ทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร การฝึกอบรมเกษตรกรตามศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)ตรวจสอบพื้นที่ขาดน้ำอุปโภค/บริโภค นอกจากนี้ ยังได้มีการหาแนวทางเชื่อมโยงโดยการบูรณาการหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งได้จำแนกพื้นที่เป็น 2 กลุ่มคือ พื้นที่ที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวัง จำนวน 40 จังหวัด132 อำเภอ และอีกกลุ่มหนึ่งคือ พื้นที่เสี่ยงภัยใกล้วิกฤติ จำนวน 28 จังหวัด 76 อำเภอ โดยกำหนดแผนการแผนการติดตามงานระหว่างวันที่ 19 – 30 เมษายน 2559 ซึ่งได้เน้นประเด็นที่จะไปตรวจติดตามหลายประเด็น ทั้งในเรื่องความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามมาตรการต่าง ๆ ในระดับตำบล รวมทั้งความต้องน้ำเพื่ออุปโภค/บริโภคของประชาชน รวมทั้งจะติดตามความก้าวหน้าของกิจกรรมที่เกษตรกรได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่มีน้ำน้อยหรือมีความแห้งแล้ง แต่สามารถสร้างรายได้เป็นทางเลือกใหม่ให้แก่เกษตรกร ซึ่งจะเป็นรูปแบบของการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรในทิศทางใหม่ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ คณะผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะรวบรวมปัญหาความต้องการที่พบในพื้นที่ นำเข้าสู่เวทีการแก้ไขปัญหาระดับชาติ อันจะเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ข่าวเด่น