นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าร้อนอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ประชาชนสามารถคลายร้อนได้ด้วยผักและผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เต็มไปด้วยใยอาหาร และไม่ทำให้อ้วน ซึ่งผักและผลไม้หลายชนิดเป็นที่คุ้นเคยหรือกินกันเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น แตงกวา ช่วยลดความร้อนและทำให้ร่างกายสดชื่น แตงโมและแคนตาลูปมีส่วนประกอบของน้ำสูงถึงร้อยละ 95 สามารถทดแทนน้ำในร่างกายที่สูญเสียไปเนื่องจากอากาศร้อนได้เป็นอย่างดี
ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ มีส่วนผสมของน้ำเป็นส่วนประกอบและสารประกอบทางธรรมชาติช่วยลดการอักเสบจากการเผาไหม้ของแสงแดดในหน้าร้อน ผักโขม อุดมไปด้วยน้ำ เป็นแหล่งสะสมของแมกนีเซียม หนึ่งในแร่ธาตุที่สูญเสียไปพร้อมกับเหงื่อที่ถูกขับออกมา มีสารต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติช่วยปกป้องผิวและสายตาจากการถูกทำลายจากแสงแดด มะเขือเทศช่วยให้ร่างกายสดชื่น วิตามินซีสูง ช่วยย่อยอาหารและช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น ป้องกันมะเร็งบางชนิด และสะระแหน่เป็นสมุนไพรเย็น ช่วยบรรเทาอาการหวัด ขับเหงื่อ ระบายความร้อน มีสารเมนทอลที่มีมีคุณสมบัติเย็นใช้ในการรักษาอาการอ่อนเพลีย และบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อว่า ช่วงหน้าร้อนควรเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เน้นอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำมากๆ ให้พลังงานน้อยๆ เช่น ข้าวแช่ สลัดผักผลไม้ มะระทรงเครื่อง ดื่มน้ำเปล่าวันละ 8-10 แก้ว หากรู้สึกอยากดื่มน้ำหวาน ควรเลือกดื่มน้ำผักผลไม้สดจากธรรมชาติรสหวานน้อย น้ำผลไม้สำเร็จรูป 100 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจเลือกน้ำสมุนไพรรสหวานน้อย เช่น น้ำเก๊กฮวย น้ำใบบัวบก น้ำกระเจี๊ยบ น้ำหล่อฮังก๊วย น้ำจับเลี้ยง เป็นต้น หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกไขมันและเนื้อสัตว์เนื่องจากต้องใช้พลังงานการในย่อยสูงอาหารที่ให้ความร้อนแก่ร่างกาย เช่น ขิง กระเทียม ไม่ดื่มน้ำอัดลม งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะจะทำให้หลอดเลือดที่ผิวหนังขยายตัว เกิดการขับน้ำออกจากร่างกายเร็วขึ้น เหงื่อออก ปัสสาวะบ่อย ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำโดยไม่รู้ตัว
"ทั้งนี้ หากมีอาการท้องเสีย ประชาชนสามารถดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่หรือที่เรียกว่า โอ-อาร์-เอส (ORS: Oral Rehydration Salts) โดยละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วตามปริมาตรและวิธีที่ระบุบนฉลาก แต่หากไม่สามารถหาซื้อผงน้ำตาลเกลือแร่ได้จริงๆ สามารถผสมรับประทานเองได้โดยใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ และเกลือป่น 1 ช้อนชา ผสมในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 750 มิลลิลิตร หากละลายยาก สามารถใช้น้ำอุ่นพอประมาณได้ แต่ไม่ควรใช้น้ำร้อนจัด ดื่มเพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ข่าวเด่น