กระทรวงเกษตรฯ วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูฝน เน้นเก็บกักน้ำในเขื่อน พร้อมใช้ระบบและอาคารชลประทานในการบริหารจัดการน้ำท่า ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดการใช้น้ำจากเขื่อน สำรองใช้ฤดูแล้งหน้า
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรทั้งสองหน่วยงาน ได้คาดการณ์ลักษณะภูมิอากาศในช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2559 โดยจะมีฝนอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นไปตามปกติของฤดูฝน จากนั้นจะมีฝนตามปกติ และจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม คาดว่าในช่วงปลายฤดูฝน อาจมีพายุจรพัดผ่านเข้ามาในประเทศไทยได้ ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ จะมีการเร่งประชุมคณะทำงานฯ ที่มีนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อหารือแนวทางดำเนินการ ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ ภายในเดือนพฤษภาคมนี้
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบันมีน้ำใช้การได้ 11,117 ล้านลูกบาศก์เมตร กรณีที่ไม่มีฝนตกลงมา ปริมาณน้ำดังกล่าวจะสามารถสนับสนุนการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ได้อย่างเพียงพอไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2559 ซึ่งกรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน ปี 2559 เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ มีเพียงพอใช้ตลอดในช่วงฤดูฝน 2559 รวมทั้ง เก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า กรมชลประทาน ได้ดำเนินการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี การส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก โดยจะใช้น้ำชลประทานเสริมในกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น นอกจากนี้ จะบริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยระบบและอาคารชลประทาน รวมไปถึงการดำเนินการเก็บกักน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักน้ำต่ำสุด (Lower Rule Curve ; LRC) ตามช่วงเวลา เพื่อความมั่นคงด้านการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ
ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์น้ำว่า ในเขตพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา คาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2559 ปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) จะมีน้ำใช้การได้เพียง 1,750 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ไม่สามารถสนับสนุนภาคการเกษตรได้ ต้องสำรองน้ำไว้ให้มากที่สุด และสนับสนุนการใช้น้ำด้านการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่าที่จำเป็น การเพาะปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก โดยใช้กลไกของระบบและอาคารชลประทาน
ในการจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งแยกได้ 2 ส่วน คือ พื้นที่ลุ่มต่ำ ประมาณ 1.4 ล้านไร่ แนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนปี 2559 ส่วนในพื้นที่ดอน ที่มีพื้นที่ประมาณ 6.2 ล้านไร่ จากการจำลองสถานการณ์ฝน พบว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขา จะมีปริมาณน้ำมากพอ จึงแนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป ในส่วนของลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งใช้น้ำต้นทุนจาก 2 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ คาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 จะมีน้ำใช้การได้ร่วมกันประมาณ 1,516 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในปีนี้คาดว่าปริมาณน้ำต้นทุนและปริมาณน้ำท่า จะเพียงพอ จึงแนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชฤดูฝนได้ตามปกติ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป
สำหรับพื้นที่โครงการชลประทานอื่นๆ การเพาะปลูกพืชฤดูฝน ขอให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมการประชุม จะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2559 นี้ ส่วนพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ขอแนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติ ประมาณกลางเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ ในพื้นที่ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) ฤดูฝนจะแตกต่างจากภาคอื่น แนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติ ประมาณเดือนตุลาคม 2559 เป็นต้นไป
ข่าวเด่น