ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
พาณิชย์ชง นบข. อนุมัติแผนระบายข้าวปนกัน11.6ล้านตัน


 


น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการระบายข้าวว่า เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 25 เม.ย.นี้ พิจารณาแผนการระบายข้าวสารรัฐบาลเกรดซี (ข้าวเสื่อมคุณภาพ ข้าวผิดมาตรฐาน) ที่ปะปนอยู่ในคลังเดียวกับข้าวเกรดพี เอ และบี (ข้าวผ่านมาตรฐาน) จำนวน 11.6 ล้านตัน 
 
 

โดยข้าวเกรดซีที่ผสมกับเกรดพี เอ และบี มีการปะปนกันตั้งแต่ 1-50% เบื้องต้นกำหนดการระบายไว้ 3 รูปแบบ คือ  รูปแบบที่ 1 มีข้าวเกรดซีที่ปะปนกับข้าวเกรดพี เอ และบี ในแต่ละคลังไม่เกิน 20% ปริมาณ 7.5 ล้านตัน เช่น ข้าว 1 คลัง มี 10 กอง จะมีข้าวเกรดซีอยู่ 2 กอง โดยจะเปิดประมูลเป็นการทั่วไปแบบยกคลัง เพื่อให้การระบายข้าวทำได้รวดเร็ว หากมีการแยกข้าวเกรดซีออกมา จะทำให้รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
 
         
รูปแบบที่ 2 มีข้าวเกรดซีปะปนกับข้าวเกรดพี เอ และบี มากกว่า 20% ขึ้นไปรวม 1.3 ล้านตัน ซึ่งจะเปิดประมูลเป็นการทั่วไป โดยนำไปผลิตได้ทั้งอาหารคน สัตว์ และเข้าสู่อุตสาหกรรม แต่จะตรวจสอบ และควบคุมการขนย้ายข้าวเกรดซีตั้งแต่โกดังจนถึงโรงงานผู้ซื้อเข้มงวด โดยมอบหมายให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ดำเนินการ 
          
และรูปแบบที่ 3 มีข้าวเกรดซีอยู่เกือบทั้งคลัง และมีข้าวเกรดพี เอ และบี ปะปนเล็กน้อยเท่านั้น ปริมาณ 2.4 ล้านตัน ซึ่งจะระบายสู่อุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนและสัตว์  และการระบายข้าวกลุ่มนี้ จะมีการตรวจสอบเข้มงวดมากที่สุด ทั้งการระบาย การขนย้าย ซึ่งจะมีการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด โดยข้าวกลุ่มนี้กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าที่จะระบายข้าวทั้ง 2.4 ล้านตันออกให้หมดภายในปี 2559
 
สำหรับการประมูลข้าวครั้งต่อไปจะเป็นเมื่อใด ข้าวชนิดใด และปริมาณเท่าไรนั้น อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด แต่จะรีบนำข้าวเสีย 2.4 ล้านตันออกมาระบาย ซึ่งตามกรอบการระบายข้าวจะอยู่ในช่วงเดือนมี.ค.-ก.ค.59 เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวยังไม่ออกสู่ตลาด และเป็นช่วงที่เหมาะสม

 "ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศไปศึกษาดูรายละเอียดและดูความเหมาะสมว่าการประมูลครั้งต่อไป จะประมูลข้าวชนิดไหน แบบไหน แต่มองว่า น่าจะรีบนำข้าวเสีย 2.4 ล้านตัน ออกมาระบายก่อน เพราะขณะนี้ มีความเหมาะสม เป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวยังไม่ออกสู่ตลาด คาดว่าจะระบายเรื่อยๆ ทุกเดือน แต่ก็จะพิจารณาตามความเหมาะสม”น.ส.ชุติมากล่าว

นอกจากนี้จะเสนอให้พิจารณาอนุมัติจัดตั้งสถาบันการพาณิชย์ข้าว เพื่อทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาข้าวไทยไปสู่การเป็นซุปเปอร์ ฟู้ดส์และแปรรูปข้าวไทยให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เบื้องต้นจะของบประมาณจัดตั้ง 600 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนสถาบัน และหากได้รับการอนุมัติ ก็จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5-6 เดือน
          
ผลการจัดตั้งสถาบันคาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้จากการนำข้าวไปผลิตเป็นสินค้าต่างๆ และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท ทำให้รัฐเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ 700 ล้านบาท จากเดิมที่ไม่สามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าข้าวได้ แต่หากมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ก็จะเก็บภาษีเข้ารัฐได้มากขึ้น
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 เม.ย. 2559 เวลา : 18:26:38

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:46 am