สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเผยดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือนมีนาคมเพิ่ม 2.09 %ระบุ มันสำปะหลัง ยางพารา หอมแดง และกระเทียม มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ดัชนีผลผลิตลดลง 8.30% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คาดเมษายนดัชนีราคายังคงใกล้เคียงกับมีนาคม
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภาพรวมราคาสินค้าเกษตรซึ่งวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรประจำเดือนมีนาคม 2559 เพิ่มขึ้น 2.09 %เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งสินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา หอมแดง และกระเทียม โดยมันสำปะหลัง ราคาสูงขึ้นเนื่องจากความต้องการส่งออกมันเส้นและแป้งมันสำปะหลังมีมากขึ้น ยางพารา ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยในช่วงฤดูยางผลัดใบ ประกอบกับราคาตลาดล่วงหน้า TOCOM และ SICOM ปรับตัวสูงขึ้น หอมแดง ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตลดลงจากเดือนที่ผ่านมา กระเทียม ราคาสูงขึ้นแม้ว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากกว่าเดือนที่ผ่านมา แต่เนื่องจากความต้องการยังคงมีมาก
สินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15 % สับปะรดโรงงาน และหอมหัวใหญ่ โดยข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15 % ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าเดือนที่ผ่านมา ประกอบกับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งทำให้คุณภาพไม่ค่อยดี สับปะรดโรงงาน ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าเดือนที่ผ่านมา หอมหัวใหญ่ ราคาลดลงเนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก
ดัชนีราคาสินค้าเกษตรมีนาคม 2559 กับเดือนมีนาคมปีที่แล้ว (ปี 2558) ภาพรวมลดลง 1.66% โดยสินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง และยางพารา โดยมันสำปะหลัง ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ประกอบกับราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงส่งผลให้ความต้องการใช้ยางธรรมชาติลดลงไปด้วย สำหรับสินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ หอมแดง กระเทียม และสุกร โดยหอมแดง และกระเทียม ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สุกร ราคาสูงขึ้นเนื่องจากความต้องการสุกรเพื่อส่งออกไปประเทศจีนมีมาก ทั้งนี้ เดือนเมษายน 2559 คาดว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรจะใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา
ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนมีนาคม 2559 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559 ลดลง 8.30%สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ อ้อย ยางพารา สุกร และไก่เนื้อ ส่วนสินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง กระเทียม หอมหัวใหญ่ ปาล์มน้ำมัน และไข่ไก่ โดยเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม (ปี 2558) พบว่า ภาพรวมผลผลิตลดลง 3.53 %สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า หอมแดง และกระเทียม สำหรับสินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สับปะรดโรงงาน สุกร และไก่เนื้อ
งนี้ ช่วงเดือนเมษายน 2559 คาดว่า ดัชนีผลผลิตจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2558 และลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2559 สินค้าสำคัญที่ออกสู่ตลาดมากในเดือนเมษายน 2559 ได้แก่ ข้าวนาปรัง และปาล์มน้ำมัน
ข่าวเด่น