กรมควบคุมโรค เชิญชวนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และใช้แอปพลิเคชั่น “พิชิตลูกน้ำยุงลาย” ป้องกันโรคไข้เลือดออกและโรคอื่นๆ ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน และช่วงเปิดเทอม
วันนี้ (21 เมษายน 2559) นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากภาวะโลกร้อนทำให้วงจรการเกิดยุงเร็วขึ้นและเพิ่มจำนวนได้มากขึ้น โรคที่เกิดจากยุงลายพาหะ จึงมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น เช่น โรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เป็นต้น โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในปี 2559 ตั้งแต่วันที่1 มกราคม - 18 เมษายน 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศแล้ว 15,148 รายเสียชีวิต 12 ราย ซึ่งสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ กรุงเทพมหานคร ระยอง สมุทรสาคร นครปฐม และภูเก็ต ส่วนจังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,228 ราย
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อว่า โรคไข้เลือดออก เป็นได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยพบมากในช่วงอายุ 5-24 ปี อาการส่วนใหญ่มักจะมีไข้สูง นอนซม ปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา อาจมีอาการเบื่ออาหาร อาเจียน ปวดท้องร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการที่แสดงว่าอาจเข้าสู่ภาวะช็อก เช่น ซึม อ่อนเพลีย กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบา เร็ว ปวดท้องกะทันหัน กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อยลง มีเลือดกําเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นสีดํา ให้ผู้ป่วยรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด โดยโรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษาเฉพาะต้องรักษาตามอาการ ซึ่งหากผู้ป่วยมีไข้สูงให้กินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้เท่านั้น ห้ามกินยาแอสไพรินหรือไอบรูโปรเฟน เพราะเสี่ยงเลือดออกในกระเพาะอาหารอันตรายถึงเสียชีวิต
สำหรับวิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยขอให้ระวังยุงลายที่ชอบอาศัยอยู่ในบ้านตามกองเสื้อผ้า ผ้าม่าน หรือในมุมมืดมุมอับในบ้าน ขอให้จัดบ้านบริเวณรอบบ้านให้โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่อยู่ในบริเวณที่อับลมหรือมุมมืด มีแสงสว่างน้อย นอนกางมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด หมั่นอาบน้ำให้ร่างกายสะอาด เพราะกลิ่นเหงื่อไคลจะดึงดูดยุงให้เข้ากัดมากขึ้น และใช้ยาทากันยุง ผลิตภัณฑ์ตะไคร้หอมกันยุงซึ่งปลอดภัย ไม่มีสารเคมี
กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือทุกบ้านช่วยกันดูแลที่สาธารณะ เช่น บ้าน โรงเรียน ศาสนสถาน ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝนและเปิดเทอมของนักเรียน ซึ่งเป็นช่วงระบาดของโรคไข้เลือดออกสูงที่สุด ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู/อาจารย์ ช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ให้มียุงและป้องกันไม่ให้ยุงมากัดได้โดยการใช้ไม้ไฟฟ้าช็อตยุง ใช้สเปรย์ฉีดยุงตามมุมอับชื้นที่ยุงลายมักไปเกาะพัก โดยเฉพาะในหน่วยงานระดับท้องถิ่นและชุมชนรวมถึงอสม. ต้องร่วมมือและเร่งรัดกำจัดกวาดล้างยุงลายพาหะนำโรคเพื่อป้องกันโรคอย่างเข้มข้นจริงจัง ซึ่งการดูแลเอาใจใส่กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำและยุงลายเป็นวิธีที่ดีที่สุดและยั่งยืนที่สุด และจะทำเพียงบ้านหนึ่งบ้านใดไม่ได้ ทุกคนในชุมชนต้องร่วมมือกันช่วยให้ชุมชนปลอดโรคไข้เลือดออก ที่สำคัญขอให้เน้นมาตรการ 3เก็บ ได้แก่
1.เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ 3.เก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนบ่อยๆ ไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
ทั้งนี้ ประชาชนทุกคนที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “พิชิตลูกน้ำยุงลาย” ได้ฟรีทั้งระบบ Android และ iOS เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประเมินความเสี่ยงจากยุงลายในบ้านและชุมชน บอกวิธีแก้ไขกำจัดลูกน้ำยุงลาย แจ้งข้อมูลผู้ป่วยเพื่อควบคุมโรค และติดต่อหน่วยงานราชการ ใช้ง่ายมีประโยชน์กับตัวเราและครอบครัวเราเอง หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร 1422
ข่าวเด่น