นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทฯ ได้ประกาศนโยบายเชิงรุกในการขยายช่องทางการขายไปสู่กลุ่มนักลงทุนเพิ่มมากขึ้นนั้น ล่าสุด บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับธนาคารซิตี้แบงก์ในฐานะตัวแทนสนับสนุนการขายกองทุนของบลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งได้เริ่มเสนอขายกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้น Low Volatility (SCBLEQ) ที่เน้นการลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนน้อย เป็นกองทุนแรก ด้วยมูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท และมีกำหนดเสนอขายระหว่างวันที่ 21-27 เมษายน 2559 นี้ ด้วยมูลค่าการจองซื้อขั้นต่ำเพียง 5,000 บาท
นายสมิทธ์ กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนค่อนข้างสูง ซึ่งหากมองย้อนหลัง 1 ปี ดัชนีหุ้นโลก MSCI World ได้ปรับตัวลดลง -10.49% ในขณะที่การลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนน้อย (Low Volatility Equity) ตามดัชนี Global Low Volatility Equity กลับสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดี โดยสามารถป้องกันความเสี่ยงในช่วงตลาดขาลงหรือช่วงที่ตลาดผันผวนสูงได้ดีกว่า และเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในหุ้นทั่วไป รวมทั้งยังสามารถสร้างผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความผันผวนได้ดีกว่า Global Equity ,U.S Equity และ EM Equity จากการลงทุนระยะยาวในช่วงเวลา 5 ปี,10 ปี และ 20 ปี
“ในปีนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงมีความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยเสี่ยงหลักเรื่องการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา รวมถึงเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ยังชะลอตัวลง ดังนั้นการลงทุนในหุ้น Low Volatility จึงเป็นโอกาสสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยมีโอกาสได้ upside เวลาตลาดปรับขึ้นและสามารถป้องกันความเสี่ยงในช่วงตลาดขาลง” นายสมิทธ์กล่าว
ทั้งนี้ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้น Low Volatility มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ กองทุน AB Low Volatility Equity Portfolio : Share Class I อยู่ภายใต้ UCITS (มาตรฐานเพื่อการซื้อขายกองทุนข้ามประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป: Undertaking for Collective Investments in Transferable Securities) บริหารโดย Alliance Bernstein L.P ซึ่งลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่เกินปีละ 2 ครั้ง
“ในส่วนกองทุน AB Low Volatility Equity Portfolio มีการลงทุนแบบเชิงรุกในหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ เพื่อหาโอกาสสร้างผลตอบแทนในทุกสภาวะตลาด โดยพิจารณาความเสี่ยงและผลตอบแทนของพอร์ตลงทุนโดยรวม ไม่อิงกับน้ำหนักการลงทุนของดัชนีอ้างอิง ซึ่งจะช่วยให้กองทุนสามารถป้องกันความเสี่ยงขาลงและสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากตลาดในระยะยาวได้ ซึ่งปัจจุบันกองทุนมีการกระจายการลงทุนในหุ้นกว่า 90 ตัว เน้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มการเงิน กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เป็นต้น” นายสมิทธ์ กล่าวพร้อมเพิ่มเติมว่า
จุดเด่นของ AB Low Volatility Equity Portfolio อยู่ที่การคัดเลือกหุ้นในพอร์ต ซึ่งเป็นหุ้นที่มีลักษณะคุณภาพดี ความผันผวนต่ำ ราคาถูก มีเป้าหมายสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีในทุกสภาวะตลาด ในช่วงที่เป็นตลาดขาขึ้นกองทุนจะปรับตัวตามตลาดประมาณ 90% หากเป็นช่วงขาลงจะปรับตัวลงตามตลาดประมาณ 70% หรือมีความผันผวนคิดเป็น ¾ ของตลาด โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าดัชนี MSCI World เกือบทุกช่วงเวลา อาทิ ผลตอบแทนของ AB Low Volatility Equity Portfolio ย้อนหลัง 3 ปี อยู่ที่ 10.76% และย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 3.61% ขณะที่ดัชนี MSCI World อยู่ที่ -4.38% และ -5.43% ตามลำดับเช่นกัน
นายดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้อำนวยการบริหารอาวุโส ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ในฐานะตัวแทนสนับสนุนการขาย กล่าวเสริมว่า ธนาคารซิตี้แบงก์ เน้นการจัดสรรเงินลงทุนในแต่ละประเภทสินทรัพย์อย่างเหมาะสม เพื่อการกระจายความเสี่ยง (Asset Allocation) แม้ว่าสภาวะตลาดการลงทุนในปีนี้จะยังคงมีความผันผวน แต่เรามองว่ายังมีโอกาสสำหรับการลงทุน และจำเป็นจะต้องมีกลยุทธ์ที่ดีที่ช่วยให้การจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์การลงทุน เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนโดยรวม และยังได้รับผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสม
กองทุนนี้จึงนับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนในสภาวการณ์ปัจจุบัน ท้ายสุดนี้นักลงทุนยังคงต้องให้ความสำคัญกับการประเมินเสี่ยงที่ยอมรับได้ในการลงทุนรวมถึงระยะเวลาการลงทุนที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนของตนในระยะยาว สำหรับบุคคลทั่วไปหรือลูกค้าธนาคารซิตี้แบงก์ที่สนใจลงทุนในกองทุน Low Volatility Equity สามารถติดต่อได้ที่ เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจาก ธนาคารซิตี้แบงก์ โทร. 02-788-3335
ข่าวเด่น