ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
นายกฯประชุมคกก.พัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของปท.ชี้คืบหน้า


 


นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ครั้งที่ 1/59 ติดตามความคืบหน้าการทำงานของ กพข. เลขา สศช. เผยช่วงปีที่ผ่านมาการขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ของรัฐบาลมีความก้าวหน้า ส่งผลดีต่อการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

วันนี้ (21 เม.ย.59) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ครั้งที่ 1/2559 โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

ภายหลังการประชุม นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ กพข. พร้อมด้วยนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลและสื่อสารประชาสัมพันธ์ แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในขณะนี้มีการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วนในคณะกรรมการหลายชุดของรัฐบาล ทั้งด้านการลงทุน การปรับปรุงกลไกต่าง ๆ ในภาครัฐ โดยทุกภาคส่วนกำลังเร่งขับเคลื่อนปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างเต็มที่ ซึ่ง กพข. ทำหน้าที่ช่วยดูในภาพรวมและให้ข้อเสนอแนะกับคณะกรรมการเพื่อให้การขับเคลื่อนมีประสิทธิผลดียิ่งขึ้น
 
 
โดยในขณะนี้เป็นช่วงที่องค์กรประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ทั้ง IMD WEF และธนาคารโลก กำลังเก็บข้อมูลสถิติ ข้อเท็จจริง และสัมภาษณ์สอบถามความเห็นจากหลายภาคส่วนในไทย ทั้งจากผู้นำภาครัฐและเอกชนของไทยโดยตรงเพื่อประเมินการเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจในประเทศไทย เพื่อนำไปประมวลผลแล้วทยอยประกาศผลขีดความสามารถของประเทศไทยและจัดอันดับในปีนี้ ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป ซึ่งมีความสำคัญกับนักลงทุนและผู้ที่ติดตามความก้าวหน้าการปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจในการลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย ทั้งนี้ ในช่วงปีที่ผ่านมาการขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ของรัฐบาลมีความก้าวหน้าที่จะส่งผลดีต่อการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
 

 
 
คณะอนุกรรมการภายใต้ กพข. ได้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการที่วางไว้และติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความก้าวหน้าในการทำงานด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค มีก้าวหน้าในภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น โดยเศรษฐกิจไทยปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ซึ่งเป็นข้อมูลตัวชี้วัดที่สำคัญที่น่าจะมีน้ำหนักส่งผลให้ไทยมีโอกาสได้อันดับที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ในกลไกต่าง ๆ ด้านเศรษฐกิจมหภาคยังมีตัวสำคัญที่มีผลกระทบสูงคือ การเร่งรัดการลงทุนด้านการคมนาคมขนส่ง การปรับปรุงกระบวนการอนุมัติการลงทุนในการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินการคลังภาครัฐ ระบบการออมเพื่อให้เกิดความมั่นคงของประชาชน เป็นต้น โดยด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานอย่างชัดเจนและเร่งด่วนในหลายประเด็น มีความคืบหน้าดังนี้

1. เสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มีมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) ได้จัดสัมมนาเพื่อชี้แจงและประมวลนโยบายรัฐและสิทธิประโยชน์ให้ชัดเจน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนในการนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน

2. สนับสนุนการผลักดันกรอบกฎหมายเพื่อดูแลวินัยทางการคลัง ซึ่งมีผลทางกฎหมายแล้วตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ปฏิรูปกองทุนประกันสังคมและระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุในอนาคต โดยกระทรวงการคลังมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ

3. เพิ่มประสิทธิภาพของภาคการเงิน ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ซึ่งจะเริ่มใช้งานในวันที่ 2 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป

ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ดังนี้

1. พัฒนาแนวทางการจัดการเรียนการสอนเพื่อวางรากฐานการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่มีความจำเป็น อาทิ พัฒนาทักษะการอ่านตามหลักพัฒนาการทางสมอง (BBL: Brain – based learning) พัฒนาทักษะด้านคิดวิเคราะห์ และพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษผ่านแอพพลิเคชั่น Echo English เพื่อเรียนภาษาอังกฤษฟรีผ่านทางมือถือและแท็บเล็ต เป็นต้น

2. ขยายฐานการผลิตกำลังคนด้านอาชีวศึกษา/อุดมศึกษา ตามความต้องการของตลาดงานและเพื่อการพัฒนาประเทศ ได้แก่ การจัดทำมาตรฐานการจัดอาชีวศึกษาทวิภาคี ทำคู่มือสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่สถานประกอบการที่ร่วมจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ส่งผลให้กำลังคนด้านอาชีวศึกษาทวิภาคีเพิ่มขึ้น เตรียมหลักสูตรฐานสมรรถนะและสถานศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อความเป็นเลิศเฉพาะทาง เป็นต้น

3. พัฒนาขีดความสามารถของผู้อยู่ในตลาดงาน ผ่านการจัดทำมาตรฐานอาชีพโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ซึ่งปัจจุบันได้จัดทำมาตรฐานอาชีพแล้ว 27 สาขาวิชาชีพรวม 222 อาชีพ และ 579 คุณวุฒิ

ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐและการพัฒนากระบวนการทางศุลกากร มีการดำเนินงานคืบหน้า ดังนี้

1. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้นำผลการศึกษาวิเคราะห์ดัชนีชี้วัดที่เป็นจุดอ่อนจากผลการจัดอันดับของ WEF IMD และ World Bank (Ease of Doing Business) รวมถึงดัชนีชี้วัดมาตรฐานสากลอื่น ๆ ให้กำหนดเป็นตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ จำนวน 14 กระทรวง 2 หน่วยงาน

2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ร่วมกันสื่อสารสร้างความเข้าใจขั้นตอนการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐ และแผนการพัฒนาระบบการให้บริการแก่ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และผู้แทนจากธนาคารโลก

3. ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ร่วมกันดำเนินการลดขั้นตอนเพื่อเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจ

ด้านการจัดการข้อมูลและการสื่อสารประชาสัมพันธ์ มีการดำเนินการทั้งการปรับปรุงข้อมูลและการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยมีความก้าวหน้า ดังนี้

1. มีการกำหนดแนวทางในการจัดการข้อมูลที่สถาบันจัดอันดับทั้ง IMD WEF และWorld Bank ใช้ในการประเมินความสามารถในการแข่งขัน และมีการดำเนินงานร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นข้อมูลล่าสุดที่มีความครบถ้วนมากขึ้น โดยในเบื้องต้นได้ปรับปรุงข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ที่ไม่ได้มีการปรับปรุงข้อมูลมาเป็นเวลานาน ให้ครบถ้วนตรงกับความเป็นจริงในปัจจุบันมากขึ้น

2. มีการจัดสัมมนาและการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสื่อสารความเข้าใจเกี่ยวกับแบบสำรวจความคิดเห็นและความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ กับกลุ่มเป้าหมายในการตอบแบบสอบถามในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ IMD และ WEF เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและได้ข้อมูลการสำรวจที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่ง IMD จะประกาศผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันปลายเดือนพฤษภาคม 2559

“ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นภาพใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับหลายด้าน ซึ่งได้มีความก้าวหน้าของการดำเนินการในภาพรวม คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิก็เห็นตรงกันว่ารัฐบาลได้ทำงานโดยมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และคณะอนุกรรมการทุกชุดได้เห็นชอบร่วมกันว่างานทุกด้านที่เกี่ยวข้องที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่นั้น อยู่ในตัวชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นคือการสื่อสารข้อมูลความก้าวหน้าไปให้ถึงหน่วยงานที่ประเมิน ซึ่งรัฐบาลก็มีความพยายามในทุกช่องทางที่จะเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ทั่วถึงในวงกว้าง” นายปรเมธี กล่าว

ทั้งนี้ ในปัจจุบันการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศมีความชัดเจนมากขึ้น กพข. ทำหน้าที่กำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ระยะยาว และบูรณาการการดำเนินงานของภาคส่วนต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ 12 คณะ และคณะกรรมการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งขับเคลื่อนแผนงานคู่ขนานกัน ให้มีความเชื่อมโยงและต่อเนื่องเพื่อให้การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศดีขึ้นตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

 







 

LastUpdate 21/04/2559 16:20:24 โดย : Admin

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 6:23 pm