ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตท่ามกลางสภาวะอุปทานล้นตลาด
-ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังจากที่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันในช่วงสองวันที่ผ่านมา หลังรัสเซียได้ประกาศเตรียมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบให้สูงที่สุด ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบอีก 2 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็น 12 ล้านบาร์เรลต่อวันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด มากไปกว่านั้นอิหร่านยังเตรียมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกลับคืนมา หลังจากสหประชาชาติได้มีมติยกเลิกการคว่ำบาตร นอกจากนี้ลิเบียยังพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบกลับมาสู่ระดับปกติ หากเหตุการณ์ภายในประเทศมีเสถียรภาพแล้ว
-นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเทียบค่าเงินดอลลาร์กับตะกร้าสกุลเงิน (ยูโร เยน ปอนด์ ดอลลาร์แคนาดา โครน และฟรังส์) ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ผู้ถือเงินสกุลอื่นซื้อน้ำมันดิบได้ที่ราคาสูงขึ้น
-ยิ่งไปกว่านั้น ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจาก รายงานของ Genscapeที่เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบเมืองคุชชิ่ง โอคลาโฮม่า พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 840,000 บาร์เรลในช่วงเวลา 4 วันแรกของสัปดาห์นี้
+ อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัสเซีย ได้ออกมาให้ความเห็นว่า การประชุมหารือเพื่อคงระดับกำลังการผลิตน้ำมันดิบของประเทศผู้ผลิตนั้นอาจจะเกิดขึ้นในช่วงสองสัปดาห์ข้างหน้านี้ ซึ่งสอดคล้องกับทางซาอุดิอาระเบียที่ออกมาเปิดเผยว่า ข้อตกลงการคงระดับการผลิตน้ำมันดิบจะเป็นหัวข้อสำคัญในการประชุมของกลุ่มโอเปกในเดือนมิถุนายนนี้
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันเบนซิน RBOBที่ปรับตัวลดลงและปริมาณอุปทานที่คงล้นตลาดในภูมิภาคจากการกลับมาส่งออกน้ำมันเบนซินของโรงกลั่นในประเทศจีน
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนี่องจากได้รับอานิสงค์จากอุปสงค์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดีเซลยังได้รับแรงกดดันจากการกลับมาดำเนินการของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไต้หวันและญี่ปุ่น
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ37-43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 40-46เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในวันที่ 26-27 เม.ย. นี้ ว่าจะมีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมหรือไม่ หลังจากก่อนหน้านี้ Fed มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.25-0.50% ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า Fedจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมประจำเดือน เม.ย. ที่จะถึงนี้
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA)เปิดเผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับลดลงสู่ระดับ 8.98ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบได้ชะลอการลงทุนและผลิตน้ำมันดิบลง จากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ
ภาวะอุปทานล้นตลาดยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลาย หลังจากการประชุมระหว่างผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ได้เสร็จสิ้นลง โดยที่ผู้ผลิตน้ำมันดิบไม่สามารถตกลงกันได้
โดย หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ ประจำวันที่ 22 เม.ย. 2559
ข่าวเด่น